หลายธุรกิจเสียหลักกับพิษโควิด-19 ที่ยังกระหน่ำผู้ประกอบการให้พังพาบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้น เงินทุนมีจำกัด ไม่สามารถรับผลกระทบลากยาวได้เหมือนรายใหญ่ แต่ก็ยังมีอีกหลายผู้ประกอบการที่สามารถฝ่าดงโควิด-19 เดินหน้าธุรกิจต่อไป แม้ผู้ประกอบการในประเภทเดียวกันตอกฝาโลงปิดกิจการไปแล้ว จึงเป็นสิ่งชี้ชัดได้ว่า ไม่ใช่ว่าโควิด-19 จะเป็นพิษร้ายกับทุกคน แต่ทำไม “เขา” ถึงรอด! แถมดังเปรี้ยงอีกด้วย ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ มาร่วมถอดรหัสร่วมกัน…
สุกี้ตี๋น้อย ฟังเสียงลูกค้าให้มาก ปรับตัวให้ไว
นาทีนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จัก “สุกี้ตี๋น้อย” ร้านสุกี้บุพเฟ่ต์ ราคา 199 บาท ผู้สร้างตำนานต่อแถวรับบัตรคิวเสมือนดูคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดังเค-ป๊อป และจากพนักงาน 20 กว่าคน สู่ 2,000 คน จาก 1 สาขา เตรียมขยายสาขาเป็น 45 สาขา จากรายได้ 499 ล้านบาท สู่รายได้ 1,500 ล้านบาท แต่ใช่ว่า หนทางทำธุรกิจ “สุกี้ตี๋น้อย” จะหอมเหมือนน้ำซุปในหม้อสุกี้ตี๋น้อย เพราะดูระยะเวลาการเติบโตประมาณ 3 ปี แทบจะเรียกได้ว่า โตคู่มากับวิกฤติโควิด-19 ทีเดียว จึงเป็นเรื่องท้าทายของ “เฟิร์น-นัทธมน พิศาลกิจวนิช” เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย ด้วยวัย 30 ปีอย่างมากทีเดียว
“เฟิร์น–นัทธมน” ยอมรับตั้งแต่คำแรกเลยว่า โควิด-19 มารอบแรกพอประกาศปิดร้านอาหาร รู้สึก “ช็อก” มาก เพราะสุกี้ตี๋น้อย เพิ่งเปิดธุรกิจในปี 62 ทำบุฟเฟ่ต์มาตลอด แต่ก็มีเวลาช็อกได้ไม่นานไม่ถึง 24 ชั่วโมง ต้องตั้งสติแก้ปัญหาทันที สิ่งแรก คุยกับพนักงานให้เข้าใจ อย่างที่สองเรียกวัตถุดิบจากทุกสาขาช่วงนั้นมีประมาณ 10 กว่าสาขา คืนกลับมาทั้งหมด ตอนนั้นที่เป็นของสดเยอะมาก ๆ ก็เร่งจ่ายแจกให้พนักงานนำกลับไปรับประทาน บางส่วนก็คิดเมนูทำขายให้ลูกค้า ช่วงนั้นทำเป็นอาหารกล่อง 29 บาท เรียกได้ว่า แทบไม่ได้อะไร แต่อยากช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน และอยากเลี้ยงพนักงานให้อยู่รอด ทำมาหมด ให้พนักงานเป็นไรเดอร์เอง ก็ทำมาแล้ว ทำได้สักระยะรู้แล้วว่า ไม่เวิร์ก จึงเลิกทำไป แล้วคิดหาวิธีทำอย่างอื่นใหม่ทันที
“ด้วยความที่สุกี้ตี๋น้อย ขายเป็นบุฟเฟ่ต์มาตลอด ตอนแรกคิดไม่ออกจะขายดิลิเวอรี่แบบไหนยังไง ต้องใส่ปริมาณเท่าไร เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะต้องคิดว่า จะจัดยังไงให้ลูกค้าทานคุ้ม เหมือนนั่งทานที่ร้าน คิดเยอะมาก เลยขอขายข้าวกล่องไปก่อน แต่ก็ไม่เวิร์ก ลูกค้าคอมเมนต์เข้ามาเยอะ ทำไมไม่จัดเซตสุกี้ขาย สุดท้ายเราเลยจัดเป็นเซตสุดคุ้ม 179 บาท ถูกกว่าบุฟเฟ่ต์ 199 บาท ทานได้ 1-2 คน แล้วขายเป็นวัตถุดิบเพิ่มเติม ใครอยากทานอะไรเพิ่ม ก็สั่งได้ และราคาวัตถุดิบเรา เช่น หมู ลูกชิ้น ราคาต่ำกว่าในซูเปอร์มาเก็ต เราเช็กราคามาหมดแล้ว หลายบ้านก็ซื้อไปประกอบอาหารอย่างอื่น ไม่ใช่แค่นำไปทำสุกี้อย่างเดียว ตอนนั้นเราคิดแทนลูกค้าว่า ถ้าจ่ายเงินเท่านี้ คุ้มค่ากับที่เขาได้รับมั้ย คิดเผื่อเขาเยอะ ๆ ไม่ได้คิดว่า เราต้องได้กำไรให้สูงสุด”
“นัทธมน” เล่าว่า ส่วนตัวไม่มีเคล็ดลับสูตรสำเร็จ สิ่งที่ทำในช่วงโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติที่ไม่มีใครเคยเจอ สิ่งที่ทำ ต้องปรับตัวให้เร็ว ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คิดอะไรได้แล้วลองเลย ลองให้รู้ว่า มันใช่หรือไม่ใช่ ถ้าใช่ไปต่อ ถ้าไม่ใช่ เลิก ที่สำคัญฟังเสียงลูกค้าให้เยอะ ๆ โดยส่วนตัวอ่านทุกคอมเมนต์ ให้ลูกค้าเป็นผู้สอนเรา เขาติชมอะไร ต้องการอะไร เสนอแนะอะไร จะมาดูใช่ หรือไม่ใช่ ถ้าใช่ก็จะทำทันทีเลย
“การทำธุรกิจร้านอาหาร ถามว่า ปัญหามีเยอะหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ปัญหามีมาเรื่อย ๆ เราแก้ปัญหากันรายวัน ต้องพร้อมที่จะลุย จะสู้ อย่าหลบหลีกปัญหา ยิ่งทำร้านอาหาร ต้องมาวิเคราะห์หาจุดอ่อน ข้อเสีย แล้วเร่งแก้ไข ถ้าอยากพัฒนาเติบโต ต้องแอคทีฟตลอด สิ่งสำคัญที่สุด ต้องฟังเสียงลูกค้า เพราะลูกค้าเป็นผู้สนับสนุนเรา ต้องรักษาลูกค้าเก่าให้ได้ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ทำยังไงให้ลูกค้ากลับมาเรื่อย ๆ เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะมาแค่ครั้งเดียว แล้วก็ทำกิจกรรมโปรโมชั่นต่าง ๆ หาลูกค้าใหม่ ๆ อีกด้วย”
นอกจากการฟังเสียงลูกค้าแล้วอีกอย่างที่ต้องให้ความสำคัญ คือ คุณภาพการบริการ และคุณภาพอาหาร โดยสุกี้ตี๋น้อย จะให้ความสำคัญในการเลือกทำเลสาขาที่มีที่จอดรถกว้างขวาง สร้างจุดเด่นจากร้านทั่ว ๆ ไป บริการเสิร์ฟอาหารถึงโต๊ะ เพราะมีลูกค้าทุกกลุ่ม ผู้ใหญ่ไม่ชอบการเดินลุกไปตัก เราเจาะตลาดลูกค้าทุกกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ ครอบครัว บางคนทำงานเลิกดึก ก็มาได้ คุณภาพอาหาร จะลองเองทุกเมนู ถ้าเมนูไหนไม่อร่อย จะไม่ปล่อยผ่าน เช่น หมูไม้ไผ่ จะผสมหมูจริงลงไปเยอะ ไม่ได้ซื้อสำเร็จมา ที่บางทีจะผสมแป้งเยอะ เพื่อรักษาคุณภาพของสุกี้ตี๋น้อย และถ้ามีวิกฤติคล้ายเดิมอีก ก็เชื่อว่า สุกี้ตี๋น้อยจะรับมือได้ โดยจะนำบทเรียนที่ผ่านมานำมาปรับใช้.
แคบหมูยายน้อย จับกระแสขยันลงโซเซียล
อีกหนึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีที่เรียกได้ว่า ฉีกตำราการตลาด อะไรที่ห้าม น้ำพริกแคบหมูยายน้อยพร้อมทำ! กับสารพัดแคปชั่นเด็ด เช่น เคี้ยวกรอบเหมือนขอบถนน, อร่อยให้ 6 สกปรกให้ 10, คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ, จะกิน หรือคายก็ตายเท่ากัน, คำแรกใส่ใจ คำต่อไปใส่โลง, กินชาตินี้ อร่อยอีกทีชาติหน้า พร้อมรูปภาพชวนให้เห็นถึงอันตรายของกินสินค้า แต่สามารถทำให้เจ้าของธุรกิจ กล้าลาออกจากงานประจำที่สร้างรายได้มั่นคงในช่วงโควิด-19 มาขายน้ำพริก และแคบหมูอย่างเดียว โกยรายได้เดือนละหลายแสนบาททีเดียว
“ศรัญญู เพียรทำดี” เจ้าของบริษัท น้ำพริกแคบหมูยายน้อย จำกัด เล่าให้ฟังว่า ช่วงแรก ๆ เปิดเพจน้ำพริกแคบหมูยายน้อย ในเดือน ก.พ. 63 ตั้งขึ้นมาเพื่อทำคอนเทนต์สนุก ๆ และนำแคบหมู ซึ่งเป็นสินค้าโฮมเมดที่คุณแม่เป็นคนทำ ขายไปด้วย ช่วงนั้นทำงานประจำเป็นพนักงานออฟฟิศ เกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ เกิดไวรัล เป็นกระแสบนโลกโซเชียลขึ้นมา ด้วยแคปชั่นสนุก ๆ กวน ๆ ส่งผลให้มีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก และมียอดออร์เดอร์เข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงขั้นต้องกลับมาคิด เนื่องจากรายได้ที่เข้ามาเพียงพอเทียบเท่างานประจำ จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาทำตรงนี้เต็มตัวช่วง เม.ย. 64 หลังจากนั้นก็จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เสียภาษีให้ถูกต้อง
มองว่า แม้มีสถานการณ์โควิด แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อทุกธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ซึ่งน้ำพริกแคบหมูยายน้อย ขายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียว 100% ทำให้ยอดขายของเรายังคงมีอยู่ ไม่ได้รับผลกระทบ มียอดขายแต่ละเดือนก่อนลาออกจากงานเฉลี่ยเดือนละ 100,000 บาท พอออกจากงานยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 300,000 บาท และช่วงที่พีคสุดที่เป็นช่วงล็อกดาวน์ยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 500,000 บาท พอปลดล็อกดาวน์ยอดก็ปรับลดลงมาบ้าง แต่ไม่มาก ยังไปได้เรื่อย ๆ”
“ศรัญญู” ขยายความถึงการสร้างจุดแข็งในการทำคอนเทนต์ให้กับธุรกิจลงบนโซเชียลมีเดียว่า โดยส่วนตัวมีพื้นฐานที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์อยู่แล้ว มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี ถ้าให้แนะนำก็ต้องบอกว่า ถ้าอยากทำธุรกิจให้เป็นที่รู้จักบนโซเชียลมีเดีย การคิดคอนเทนต์อาจจะไม่ใช่จุดสำคัญ แต่การลงมือทำ และลงคอนเทนต์อยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอในแต่ละวัน จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคมากกว่า เหมือนเราอยู่กับลูกค้าตลอดเวลา ทำให้เกิดการสอบถามสินค้าสั่งซื้อสินค้ากับเราอย่างต่อเนื่อง
“คนที่จะมาทำตลาดบนโซเชียลมีเดีย ต้องลงมือทำ ต้องขยัน อย่าหยุดทำ เพราะจะมียอดไลค์ ยอดสั่งซื้อกลับเข้ามาหาเราแน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดียคือคอนเทนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อความรูปภาพ หรือคลิปวิดีโอ คือคอนเทนต์ทั้งสิ้น และอย่างน้อยต้องลงทุกวันเพื่อสร้างการจดจำและรับรู้ให้กับผู้บริโภค”
ส่วนวิธีการคิดคอนเทนต์ของน้ำพริกยายน้อย คือ ลงมือทำเพราะแต่ละคอนเทนต์ไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากน้อยแค่ไหน แล้วมาติดตามว่าและนำมาวิเคราะห์กับกระแสของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เราจับจุดลูกค้า รู้จักลูกค้าเราได้เป็นอย่างดีว่า อีกหนึ่งเทคนิคของเราในการทำคอนเทนต์ คือ “การจับกระแส” ในช่วงเวลานั้นที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจอยู่ นำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสินค้าของเรา ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจในตัวสินค้ามากขึ้น แต่อย่างน้อยเราต้องเข้าใจจุดเด่นของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ก่อน และติดตามฟีดแบ็กลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด
“แนวทางการตลาดช่วงนี้ เช่น ลูกค้าชอบกล่องสุ่ม เราก็ทำกล่องสุ่มเสี่ยงให้ลูกค้าแต่การตลาดภาพรวมทุกครั้งที่ลงคอนเทนต์ก็มียอดขายเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้าคอนเทนต์ไหนตอบโจทย์โดนใจลูกค้าได้ตรงจุด ก็จะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดเราก็ต้องพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด และมีความรับผิดชอบ หากลูกค้าได้รับสินค้าที่ไม่ดี อาจจะเกิดจากการขนส่ง เราก็พร้อมยินดีส่งสินค้าให้กับลูกค้าใหม่ด้วย”.
เพนกวินชาบู คิดเร็วทำเร็วแป๊กให้รีบปรับ
เรียกเสียงฮือฮาในวงการธุรกิจร้านอาหารได้อย่างมาก สำหรับ ’เพนกวินกินชาบู“ ร้านชาบูชื่อดัง ที่ประกาศขายชาบู แถมหม้อ ในราคาไม่ถึง 1,000 บาท สร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคอย่างมาก พร้อมกับโปรโมชั่นแหวก ๆ เช่น แถมหม้อพร้อมแถมสมาชิกทินเดอร์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นหาเพื่อน หาคู่ ด้วยประโยคเด็ด “กวิ้นยอมขาดทุน เพื่อให้คุณได้มีคู่ แล้วเผื่อจะจูงมากินชาบูร้านกวิ้นบ้าง” หรือแคมเปญชาบูหน้าเด้ง สั่งชาบู แถมโบท็อกซ์ สร้างมิติใหม่ให้กับวงการร้านอาหาร
“ต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี” เจ้าของธุรกิจชาบูเพนกวิน เปิดใจให้ฟังถึงกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ว่า ก่อนโควิด-19 ชาบูเพนกวินไม่เคยขายออนไลน์เลย ขายแต่ออฟไลน์ 100% ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 เข้ามากระทบ จึงปรับตัวขายออนไลน์ แต่การขายชาบูออนไลน์ไม่ได้ง่ายเหมือนกับขายอาหารจานเดียว เพราะต้องใช้อุปกรณ์และมีรูปแบบที่ซับซ้อนกว่า ทำให้เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย จึงเป็นที่มาของชาบู แถมหม้อ นอกจากลูกค้าได้รับความสะดวกสบายแล้ว ยังสร้างความแตกต่างให้กับเรากับคู่แข่งอีกด้วย แต่หลังจากนั้น คู่แข่งก็เข้ามาทำการตลาดเช่นกัน แต่เราก็มีการปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง เช่น แถมหม้อ แถมโบท็อกซ์, ชาบูแถมห้องพัก รวมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต
“การทำตลาดยุคโควิด-19 เราต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ ก็มองหาพันธมิตรเข้ามาช่วย เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุด กระแสตอบรับดีมาก ส่วนยอดขายนั้นน่าจะขึ้นอยู่กับความสนใจของลูกค้าในช่วงเวลานั้น ๆ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ช่องการสื่อสารจากสื่อที่ให้การตอบรับที่ดี เป็นที่รู้จัก เป็นที่สนใจจากลูกค้ามากขึ้น ช่วงนั้นแม้ภาครัฐ จะประกาศคล้ายกฎ ลูกค้ารอบแรกที่ให้ลูกค้านั่งรับประทานชาบู 1 คน 1 โต๊ะแล้ว เราก็ปรับตัวทำฉากกั้นเป็นรายแรก ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก”
สิ่งหนึ่งในการทำตลาดช่วงโควิด-19 อย่าทำการตลาดแบบเดิม ๆ เพราะผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวตามผู้บริโภค ปรับตัวให้เร็วกว่าคู่แข่ง และให้ตั้งข้อสังเกต เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งคอนเทนต์ ผลิตภัณฑ์ ต้องเข้าใจลูกค้าที่ชอบความสบายและประหยัดที่สุด โดยการนำเสนอคอนเทนต์ของเพนกวิน คือ การสร้างความน่าสนใจ ผสมกับเรื่องที่สนุก ตลกให้เข้าถึงเราได้อย่างตรงจุด เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับลูกค้าและคาแรกเตอร์ของแบรนด์ เพราะจะช่วยให้การสื่อสารโดนใจผู้บริโภคมากที่สุด การทำแคมเปญที่จัดขึ้นในทุกสถานการณ์ของเพนกวินฯ คือความสนุก การตลาดต้องสร้างความว้าว! ทำให้ลูกค้ามีรอยยิ้มให้ได้
“ตอนนี้แม้สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด ทำให้เราต้องตัดสินใจลดจำนวนสาขาลงพอสมควร แม้ปัจจุบันเราสามารถขายได้ แต่รายได้ยังไม่กลับมาเท่าเดิมเนื่องจากช่องทางการขายที่หายไป เหลือเพียง 60-70% จากของเดิมที่ได้รับ 100 ล้านบาท และจากการแพร่ระบาดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอนที่เกิดขึ้น เราก็ต้องระมัดระวังตัว และติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ อะไรที่ทำแล้วแป้ก ต้องรีบแก้เกมส์ทันที ไม่รอให้ธุรกิจเกิดความเสียหายแล้วค่อยสะสาง โดยเฉพาะการทำตลาดออนไลน์ เมื่อโพสต์กิจกรรมตลาดใดลงไป ถ้าเห็นแววร่วงมากกว่ารุ่ง ก็จะปรับแผนใหม่ทันที เราต้องเช็กกระแสลูกค้าอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง”
เมื่อมีปัญหา หรือมีวิกฤติอะไร อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนตั้งสติให้ดี ค่อย ๆ พิจารณาโอกาสจากวิกฤติที่เราเจอจะทำให้เรารอดอยู่ และเรียนรู้ตลอดเวลา รวมทั้งหาพันธมิตรร่วมไปด้วยกัน เชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดได้.
“โฮมเพนท์” ทำตัวให้แกร่งแบงก์วิ่งเข้าหาเอง
ธุรกิจวงการก่อสร้างในช่วงโควิด-19 ถือได้ว่า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจอันดับต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส หลังจากมีสารพัดปัจจัยรุมกระหน่ำ แต่กลับไม่ส่งผลกระทบกับ “โฮมเพนท์” ศูนย์สีราคาขายส่ง จำหน่ายสีทาอาคารทุกยี่ห้อ ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจแบบประคองตัว ยังได้ขยายสาขาสวนกระแสอีกด้วย
“สุทัศน์ เลิศรัตนชัยกิจ” รองประธาน บริษัท สุดีเพนท์เซ็นเตอร์ เจ้าของธุรกิจโฮมเพนท์ ฉายภาพให้เห็นถึงการทำธุรกิจของโฮมเพนท์ว่า เริ่มต้นธุรกิจทำร้านขายสีและอุปกรณ์ เป็นตัวแทนจำหน่ายสีทุกแบรนด์ที่มีประเทศไทย ตั้งแต่ปี 29 จนถึงปัจจุบัน จากคูหาขนาดเล็กขยายเป็น 4-5 คูหา หลังจากทำไประยะหนึ่ง เริ่มมีบริษัทขนาดใหญ่หันมาทำธุรกิจค้าปลีกสีมากขึ้น ทำให้ร้านเล็ก ๆ เริ่มอยู่ยาก จึงหันมาปรับธุรกิจใหม่ รื้อโชว์รูมปรับโฉมใหม่ทั้งหมด หันมาเป็นศูนย์ขายส่ง จากเดิมขายลูกค้าทั่วไป หันมาจับกลุ่มขายผู้รับเหมา เน้นขายลอตใหญ่ กำไรน้อยหน่อย แต่ไม่ต้องไปแข่งกับกลุ่มโมเดิร์นเทรด ทำให้ไปได้ ปัจจุบันมี 8 สาขา สาขาที่ 8 ล่าสุดเปิดเดือน พ.ย. 64 และมีแผนที่จะเปิดต้นปี 65 อีก 2 สาขา รวมเป็น 10 สาขา
“โควิด-19 จะส่งผลต่อร้านเล็ก ๆ เพราะผู้แข่งขันขนาดใหญ่เข้ามาจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กสู้ไม่ได้ ทั้งต้นทุน ราคา และความพร้อม ทำให้เราตัดสินใจปรับธุรกิจและปรับกลยุทธ์ด้วยจากร้านโมเดิร์นเทรดสู่ศูนย์ขายส่ง ขายช่าง เน้นขายจำนวนมาก และยอมกำไรน้อยลง แต่ช่วยให้เราขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น”
หัวใจของการทำธุรกิจ ต้องทำให้ตัวเราให้แข็งแรง เพื่อที่ทำให้การขยายธุรกิจทำได้สะดวกขึ้น เมื่อแข็งแรงสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็จะยอมเราเอง เพราะเห็นว่าเรามีความสามารถจากชำระหนี้ได้ ไม่อยากให้คิดแต่เรื่องที่จะกู้เงินก่อนที่จะทำให้เราแข็งแรง ถ้าเรามีเงินน้อย เราควรตั้งฐานด้วยเงินน้อย ๆ ตั้งฐานให้แข็งแรง แล้วถ้าอยากขยายธุรกิจ ค่อยไปกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
แนวคิดการขยายสาขาของโฮมเพนท์ เรามองการปรับวิกฤติให้เป็นโอกาส ส่วนหนึ่งทำให้มีเวลาคิด ช่วยให้เราสามารถหาขยายสาขาได้ทำเลที่ดี รวมถึงมีเวลาลงมือทำ และตัดสินใจ ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปสู่การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ตรงจุดนี้ เราต้องยอมจ้างคนที่มีความสามารถในการทำ อย่างตนอายุ 66 ปีแล้ว ก็ไปจ้างเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เราก็ต้องลดอายุให้คุยกับเขาให้รู้เรื่อง เพราะเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ เขาจะมีความเป็นของตัวเองค่อนข้างสูง โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอบรมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้ได้เติมความรู้อยู่เป็นประจำ เข้าใจในทิศทางของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจต้องใส่ใจลูกค้าเป็นหลัก ลูกค้าต้องเป็นที่ตั้งของเรา เราถึงจะอยู่ได้และทันกับโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ อย่าไปลดเรื่องคุณภาพ การบริการ หรือปรับเพิ่มราคา เพื่อเอากำไรมากขึ้น เพราะจะทำให้เราไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว”
“สุทัศน์” ได้ย้ำส่งท้าย ขอให้ผู้ประกอบการลุกขึ้นสู้ ให้ดูศักยภาพของตัวเอง หาจุดเด่นของตัวเอง กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคือใคร อย่าไปหาแต่เงินทุน เราต้องทำให้เราเชี่ยวชาญและแม่นยำธุรกิจก่อน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเอง มีหลายหน่วยงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน เช่น สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย พร้อมให้คำปรึกษาต่าง ๆ เช่น การจัดทำแพ็กเกจจิ้ง หรือช่องทางการตลาด พร้อมกับจับคู่ธุรกิจร่วมกัน เมื่อมีความชัดเจนแล้วเราก็พร้อมพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น.