ธุรกิจร้านอาหารติดหล่ม กำลังซื้อ-ต้นทุนสูง-ขาดแคลนแรงงาน “นีโอสุกี้” จัดทัพสู้ หันต่อรองซัพพลายเออร์ เน้นรักษากระแสเงินสด ย้ำไม่ปรับเพิ่มราคาก่อนควงจุดแข็งคุณภาพเมนู สารพัดน้ำจิ้มเด็ด มัดใจลูกค้า พร้อมเดินหน้าขยายสาขาบุกต่างจังหวัดเพิ่มฐานลูกค้า
นายณัฐพล กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอสุกี้ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด เจ้าของร้านอาหาร “นีโอสุกี้” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารที่เป็นตลาดใหญ่มูลค่า 4 แสนล้านบาท
- M-Flow ทางด่วนจ่ายอัตโนมัติ ประชาชนวิจารณ์ยับ หลังปรับหนัก 10 เท่า
- รื้อระบบบำนาญประเทศไทย รับมือ “เศรษฐกิจ-สังคม” สูงวัย
- เหล้าเบียร์ขึ้นราคายกแผง มีนาคม “คอทองแดง” กระอัก
ยังต้องเจอกับอุปสรรคของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้จะไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับเดลต้า แต่มีการแพร่เชื้อเร็ว ทำให้จำนวนยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แน่นอนว่ากระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ
รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีทั้งคนที่กล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านและกลุ่มคนที่ยังกังวล ซึ่งรัฐบาลควรมีนโยบายจัดการเรื่องโรคระบาดให้ชัดเจน รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหารที่ปรับตัวด้วยการหันมาโฟกัสทุกช่องทางขาย ทั้งไดรฟ์อิน หรือการนั่งรับประทานในร้าน การซื้อกลับบ้าน และดีลิเวอรี่
“ปัจจุบันทราฟฟิกผู้บริโภคหลัก ๆ ยังอยู่ที่วันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดา จันทร์ถึงศุกร์ยังเงียบ ร้านที่ลูกค้ากลับมาส่วนใหญ่ เป็นร้านที่อยู่นอกศูนย์การค้า เช่นเดียวกับนีโอสุกี้ ที่ลูกค้าในสาขาที่อยู่ปริมณฑลกลับมาก่อนสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ
อาจเป็นเพราะผู้บริโภคเริ่มปรับตัวได้ เพราะปี 2564 ที่ผ่านมามีการล็อกดาวน์ทำให้ผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการที่ศูนย์การค้าลดลง ทำให้ยอดสั่งซื้อต่อบิลช่วงนี้แตกต่างกันมาก”
นายณัฐพลกล่าวว่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องเจอผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบทั้งในประเทศและสินค้านำเข้า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากต้นทุนเนื้อหมู น้ำมันปาล์ม
รวมไปถึงกลุ่มสินค้าแดรี่ ขึ้นมาประมาณ 35% ถือว่ากระทบหนัก รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ทุกร้านต้องเจอเหมือนกันหมด เนื่องจากปี 2564 ที่ผ่านมา ภาครัฐสั่งให้ปิดร้านอาหารชั่วคราว บางร้านเกิดการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้ พนักงานไม่กลับมาทำงานต่อ โดยเฉพาะร้านที่ต้องใช้แรงงานต่างชาติที่ยังกลับมาไม่ได้ จึงต้องเร่งหาแรงงานคนไทยเข้ามาช่วย หากสังเกตจะพบว่าร้านอาหารขนาดใหญ่บางแห่งต้องเปิดให้บริการเพียงครึ่งเดียว ไม่ใช่ไม่มีลูกค้า แต่พนักงานไม่พอ
สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานปี 2565 บริษัทไม่มีนโยบายลดคุณภาพสินค้าและยังไม่ได้ปรับเพิ่มราคา โดยหันไปเน้นบริหารต้นทุนให้ดีขึ้น มุ่งไปเจรจาต่อรองซัพพลายเออร์ ควบคู่กับการปรับแผนการทำตลาดใหม่ ไม่เน้นการจัดโปรโมชั่น
เพราะในช่วงที่ต้นทุนขึ้น ร้านอาหารที่กระทบหนัก ๆ คือร้านที่เล่นนโยบายด้านราคาเพื่อสู้กับการแข่งขัน แต่จากนี้จะเห็นว่า ทุกแบรนด์คงมีการจัดโปรโมชั่นในระยะสั้น ๆ และหันมาเน้นให้ส่วนลด copromotion กับบัตรเครดิตธนาคารต่าง ๆ และสิ่งสำคัญต้องมองกำไรเป็นเพียงตัวเลข เน้นรักษากระแสเงินสดเพื่อสำรองในการจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอน
พร้อมกันนี้ ยังต้องเจอกับการแข่งขันในตลาดสุกี้ ที่มีผู้เล่นทั้งรายเล็กและรายใหญ่ บริษัทจึงต้องเพิ่มน้ำหนักนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ และความหลากหลาย ทั้งน้ำจิ้ม น้ำซุป เน้นความเป็นโฮมเมดพัฒนาเมนูตามเทศกาล เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่
โดยเน้นใช่สื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ไอจี ช่วยในการรีวิว ส่วนร้านข้าวแกงเฮียเพ้ง ที่เปิดมาเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมี 4 สาขา ซึ่งเป็นร้านอาหารข้าวแกงที่นำเสนอเมนูอาหารที่หลากหลาย ราคาเริ่มต้น 45 บาท ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
และถัดมายังมีแบรนด์ซุนวูบาร์บีคิว ร้านบาร์บีคิวปิ้งย่าง ที่เปิดตัวไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เน้นจับกลุ่มคนทำงานเป็นหลัก มี 2 สาขา แบรนด์ดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจมีความหลากหลายและช่วยสร้างยอดขายได้
ปัจจุบันโมเดลธุรกิจหลักของบริษัทยังมีเป้าหมายเติบโตด้วยตัวเอง และเน้นการลงทุนเองเป็นหลัก ล่าสุด ได้เปิดสาขาใหม่ ได้แก่ ยูดีทาวน์ และเทสโก้ โลตัส นาดี จังหวัดอุดรธานี และมีโชค พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่
โดยปัจจุบันร้านอาหารนีโอสุกี้มีทั้งหมด 24 สาขา สเต็ปต่อไปนอกจากนีโอสุกี้แล้ว จะมีโมเดลร้านอาหารใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจในต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีร้านนีโอสุกี้ในประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซีย รวม 4 สาขา ในรูปแบบของแฟรนไชส์ และจากนี้มีแผนขยายร้านในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat