สถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 แม้อิทธิฤทธิ์จะไม่รุนแรงเท่ากับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 แต่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการ
โดย รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินตัวเลขความเสียหายจากน้ำท่วมอยู่ที่ 12,000-20,000 ล้านบาท จาก 52 จังหวัด ที่น้ำท่วม เฉลี่ยจังหวัดละ 100 กว่าล้านบาท ถือว่ากระทบเศรษฐกิจไม่มาก และกระทบต่อจีดีพีประเทศ 0.1-0.5%
แล้วภาพต่อหลังน้ำลดจะเป็นอย่างไร มีเสียงสะท้อนจาก กฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพว่า ปี 2565 น้ำท่วมหนักกว่าปี 2564 ความเสียหายน่าจะมากกว่า ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง นอกจากจะได้รับผลกระทบทำให้สัญญางานก่อสร้างล่าช้าแล้ว จะต้องเจอกับภาวะวัสดุก่อสร้างขาดแคลน เนื่องจากมีความต้องการมากขึ้นจากปริมาณงานที่เพิ่ม ทั้งงานเก่าที่ต้องทำให้เสร็จและงานซ่อมสร้างถนนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งต้องรื้อทำใหม่ จะมาแย่งทรัพยากรจากงานปกติ น่าเป็นห่วงคือผู้รับเหมารายย่อยที่รับงานเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล
“ขณะนี้ผู้รับเหมาก่อสร้างถนนในพื้นที่น้ำท่วม ได้รับผลกระทบมาก เข้าไซต์งานไม่ได้ แหล่งซื้อวัสดุก่อสร้างถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคกลางที่น้ำท่วมหนัก ส่วนจะกระทบมีกี่สัญญา รอประเมินหลังน้ำลดที่คาดว่าใช้เวลา 2 เดือน” นายกฤษดาชี้แจง
อุปนายกสมาคมรับเหมายังประเมินว่า กว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องใช้เวลา 4-6 เดือนนับจากนี้ เพราะน้ำท่วมจากเดิมอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ภาคใต้แล้ว หลังจากนี้สมาคมจะรวบรวมความเดือดร้อนของสมาชิกและเสนอให้ภาครัฐอนุมัติการขยายเวลาก่อสร้างให้
ขณะที่ การซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย วรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มองว่า เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายแล้วจะทำให้มีความต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมบ้านในปีนี้เพิ่มขึ้น 20-30% เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ปูพื้น บุผนัง ผนังสำเร็จรูป อิฐมวลเบา ประตู หน้าต่าง เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มปีนี้จะมีความต้องการมากขึ้นกว่าทุกปี ส่งผลให้ตลาดรีโนเวตบ้านขยายตัวตามไปด้วย ส่วนราคาวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะไม่ปรับราคาขึ้นตามความต้องการที่เพิ่ม เพราะก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปแล้วตามต้นทุนการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและสงครามรัสเซียกับยูเครน
“ช่วงฝนตกหนักที่กรุงเทพฯ มีลูกค้าที่มีน้ำเข้าบ้าน หลังคารั่ว ติดต่อให้เราไปซ่อมแซมบ้านอยู่พอสมควร ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างภาคอีสานที่น้ำท่วมหนัก หลังน้ำลดแล้ว บริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมคงจะเตรียมความพร้อม ทั้งคน เครื่องมือเข้าไปซ่อมบ้านให้กับลูกค้าที่ยังสร้างไม่เสร็จและยังรอส่งมอบงาน รวมถึงงานเพิ่มจากลูกค้าทั่วไปที่บ้านถูกน้ำท่วมด้วย” นายวรวุฒิกล่าว
ด้าน ความเคลื่อนไหวการซื้อขายวัสดุก่อสร้าง จากการสอบถามร้านค้าวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ระบุว่า ยังคงมีลูกค้ามาซื้อสินค้าปกติ เพราะที่ร้านน้ำไม่ท่วม และมีบางสินค้าปรับราคาขึ้น เช่น ปูนซีเมนต์ จากไม่ถึง 100 บาท/ถุง (40 กก.) เป็น 125 บาท/ถุง เพราะการขนส่งลำบาก ส่วนสินค้าอื่นยังขายราคาเดิม เช่น กระเบื้อง เพราะยังมีสต๊อกเก่าคงเหลือ
“ความต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างเพื่อนำไปซ่อมแซมบ้านมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เหมือนน้ำท่วมเมื่อปี 2562 ที่อิฐ หิน ปูน ทราย กระเบื้องขายดีมาก ต้องรอหลังน้ำลดใน 1 เดือน” พนักงานขายวัสดุก่อสร้างกล่าวอย่างมั่นใจ
สอดคล้องกับ สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญถาวรกรุ๊ป จำกัด ศูนย์รวมวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้าน ประเมินว่า เป็นปกติทุกปีเมื่อเกิดน้ำท่วมจะมีความต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างไปซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด เช่น กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง กระเบื้องมุงหลังคา โดยในปีนี้จากน้ำท่วมทำให้ความต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3-8% คงไม่ขายดีเหมือนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2526 และปี 2554 ที่ท่วมหนักหลายพื้นที่รวมถึงกรุงเทพฯด้วย ขณะที่ปีนี้ส่วนใหญ่ท่วมบางพื้นที่ในภาคกลางและภาคอีสาน ส่วนกรุงเทพฯไม่ท่วม ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระประชาชนบุญถาวรได้นำสินค้าจัดโปรโมชั่นลดราคา 70-80%
“ปีนี้ตลาดวัสดุก่อสร้างเติบโตไม่มากประมาณ 5% ลดลงจากต้นปี คาดว่าจะโต 10% หลังมีสงครามรัสเซียกับยูเครน ราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ประชาชนมีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจลดลง จะใช้เงินซ่อมบ้านหรือแต่งบ้านน้อยลง เพราะลูกค้าของเราเป็นกลุ่มระดับกลาง-ล่างเป็นส่วนใหญ่ คาดหวังในปี 2566 ตลาดจะขยายตัวมากกว่านี้” นายสิทธิศักดิ์สรุปภาพรวมตลาด
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่