เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น ในมุมของหลายๆ องค์กรกลับเลือกที่จะมองลึกที่คนในสังคมจะต้องรอดไปด้วยกัน นั่นคือการปรับวิธีคิดโดยมองแบบมุมกลับว่า “ทำอย่างไรที่จะให้ทุกภาคส่วนมีทางรอดที่ยั่งยืน?”
คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนในกรณีนี้คือการเลิกคิดจะ “เอาตัวรอด” แต่มองหาวิธีที่จะ “เอาเรารอด” หรือก็คือการประคับประคองทั้งตนเอง สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปด้วยกันอย่างสมดุล เพื่อให้โครงสร้างของการเกื้อหนุนระหว่างกันยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งระหว่างวิกฤตและในวันที่ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินแทบทุกแห่ง ที่ต่างออกมาตรการช่วยพักชำระหนี้ รวมถึงการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ในกรณีพิเศษเพื่อช่วยผู้ประกอบการและลูกค้าก้าวข้ามวิกฤต แม้บริษัทเองจะต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มทางรอดให้กับลูกค้า ซึ่งจะส่งผลย้อนกลับสู่บริษัทในอนาคต
เรื่อยมาถึงผู้ประกอบการรายย่อยทั้งเล็กและใหญ่ ก็ต่างมีมาตรการช่วยเหลือต่างรูปแบบกันไป ตามแต่กำลังที่จะพอมี ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม การระดมทุนไม่ว่าจะรูปแบบตัวเงิน หรือกำลังกาย ด้วยหวังที่จะเคียงข้างลูกค้าฝ่าปัญหาไปด้วยกัน หรือแม้แต่คนบันเทิงหรือผู้มีชื่อเสียงเอง หลายๆ ท่านก็ต่างใช้พื้นที่ของตนเพื่อเป็นศูนย์กลางกระจายความช่วยเหลือ ตอบแทนความรักความเชื่อมั่นที่ผู้ติดตามมอบให้กันเสมอมา ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของบริหารความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับสังคม ไม่มองตนเองเป็นเพียงฝ่ายได้รับ แต่พร้อมจะมอบกลับให้ยิ่งกว่า เพื่อให้เรารอดไปด้วยกันทั้งหมด
ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือการเดินตามแนวทางดังกล่าวในแบบฉบับ “ปตท.” และกลุ่มบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าจับตาของการบริหารกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน เพื่อสร้างผลลัพธ์ของการตอบแทนสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางวิกฤตของบริษัทที่ต้องฝ่าฟันเช่นกัน
โตแบบ ปตท. ต้องไปต่อด้วยกันทั้งองค์กรและสังคม
ดังที่เราทราบกันดีว่า ปตท. คือองค์กรระดับประเทศที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามในปี 2563 ก็นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากสำหรับ ปตท. จากหลายปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งวิกฤตราคาน้ำมันผันผวน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกจนถึงปัจจุบันที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
เช่นเดียวกันกับทุกๆ บริษัท กลุ่ม ปตท. เองก็ต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากไม่ต่างกัน และยังทวีคูณไปตามขนาดของธุรกิจ ดังนั้น มาตรการต่างๆ เพื่อประคับประคององค์กรจึงถูกวางแผนและนำมาใช้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยกันบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทั่วไปของแนวทางการฝ่าวิกฤต
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ นับว่าน่าสนใจที่เรายังคงได้เห็น “บทบาทของ ปตท. กับสังคม” ผ่านหลายโครงการ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่ถูกให้ความสำคัญไปพร้อมกันตลอดระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา
มีตั้งแต่การให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่พื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไปจนถึงการร่วมสนับสนุนวางแผนเพื่อรับมือในระยะยาวกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมไปถึงการจับมือรวมพลังกันของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละธุรกิจ มาร่วมช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ หวังที่จะให้เราทุกคนก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปอย่างแข็งแกร่งร่วมกัน
บทบาทด้านช่วยเหลือสังคม
การเข้าช่วยเหลือในจุดที่กำลังมีปัญหาอย่างทันท่วงทีคือบทบาทที่เราสามารถเห็นได้ชัดตลอดมาจากกลุ่ม ปตท. และมันถูกเน้นย้ำอีกครั้งผ่านช่วงเหตุการณ์โควิด-19 ในระลอก 3 นี้ เช่น การระดมความช่วยเหลือจากกลุ่มบริษัท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์สิ่งของที่จำเป็น เพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามในการระบาดระลอกล่าสุด ซึ่งมีความรุนแรงกว่าเดิมมาก จนนำไปสู่การจัดตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” เพื่อเร่งส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤติและเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูงที่ช่วยลด และชะลอการลุกลามของปอดอักเสบไม่ให้รุนแรงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ รวมจำนวน 360 เครื่อง ให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่ควบคุมสูงทั่วประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น การบริจาคยังถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันการติดเชื้อ เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยง เสื้อกาวน์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หมวกอัดอากาศความดันบวก เตียงความดันลบ ไปจนถึงแท็บเล็ตเพื่อการตรวจรักษาทางไกล ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกกระจายไปยังทุกภูมิภาค โดยเป็นการระดมความช่วยเหลือจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. ด้วยงบประมาณกว่า 430 ล้านบาท
บทบาทด้านสนับสนุนการฝ่าวิกฤต
นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ กลุ่ม ปตท. ผนึกกำลังทั้งเครือเพื่อนำเสนอความร่วมแรงใจและแนวทางสนับสนุนแก้ปัญหาโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมต่างๆ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น
– สนับสนุนเงินวิจัยชุดตรวจ COVID-19 ของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยกลุ่ม ปตท.
– นโยบายขยายเวลาส่วนลดราคา LPG และ NGV เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน โดย ปตท.
– กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้งโครงการ “นวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือชุมชน และ สนับสนุนการจ้างงานผ่านโครงการ Restart Thailand โดยจ้างนักศึกษาจบใหม่
– การพัฒนาชุดอุปกรณ์ห่วงโซ่ควบคุมความเย็นโดย ปตท.สผ. เพื่อช่วยในการเก็บรักษาวัคซีนโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ
– การผลิตชุดอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ (PAPR) สนับสนุนชุด Coverall และโครงการตู้โควิดเคลียร์ (CoviClear) โดย จีซี
– การสนับสนุน PE Gown Face Shield และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดย จีพีเอสซี
– การสนับสนุนอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย แบบอินฟราเรด โดย ไออาร์พีซี
– การสนับสนุน PE Gown และหน้ากากอนามัย โดย ไทยออยล์
– โครงการ “พื้นที่ปันสุข” โดย โออาร์ ซึ่งเป็นการจับมือกรมส่งเสริมการเกษตร สร้างพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศให้กับเกษตรกรโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในช่วงการระบาดของโรค
– การรวมพลังของผู้บริหารและพนักงานในกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมบริจาคโลหิตรวมกว่า 115,300 ซีซี
บทบาทด้านวางรากฐานเพื่ออนาคต
ไม่เพียงแค่การเยียวยาสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สิ่งที่ ปตท. มองไปข้างคือการคิดค้นนโยบายเพิ่มเติมเพื่อวางรากฐานอนาคตหลังวิกฤตเริ่มเบาบาง จึงเกิดเป็นโครงการที่ร่วมกันระหว่างกลุ่มบริษัทและหน่วยงานภายนอกจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายหลักคือการฟื้นฟูสังคม ชุมชน และระบบเศรษฐกิจให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ ทั้งยังมองไปถึงการสร้างโอกาสให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกันกับองค์กร โดยปัจจุบันมี 2 โครงการที่น่าจับตา คือ
– โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม
ด้วยความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่ม ปตท.จึงมุ่งภารกิจฟื้นฟูประเทศด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมที่ตนมีให้แก่การจัดการ Smart Farming และ Smart Marketing เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตและการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรสู่วิถีใหม่ ไปพร้อมกับการการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐาน ส่งเสริมการใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ สร้างช่องทางการตลาดออนไลน์ และมีการบริการที่สอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ โดยหวังสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มเกษตรกร, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ด้อยโอกาส
– โครงการ Restart Thailand
หนึ่งในปัญหาสำคัญในช่วงวิกฤตครั้งนี้คืออัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงเป็นที่มาของโครงการ Restart Thailand ที่สานต่อนโยบายภาครัฐ โดยได้เปิดรับสมัครแรงงานและนักศึกษาจบใหม่สำหรับการขยายธุรกิจและโครงการก่อสร้างต่างๆ กว่า 25,000 อัตรา และหนึ่งในนั้นคือการเข้าทำงานด้าน CSR ผ่านโครงการพัฒนาสังคม 3 ด้าน ทั้งส่งเสริม การศึกษาเยาวชนโดยได้จ้างงานนักศึกษาจบใหม่ให้ปฏิบัติงานผู้ช่วยสอน และงานธุรการ/ICT จำนวน 568 อัตรา ทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยลดภาระคุณครู ให้ครูมีเวลาในการสอนในชั้นเรียนมากขึ้น ช่วยคุณครูในการทำสื่อการสอน ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการอ่านเขียนดีขึ้น การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและวิจัยดูแลพื้นที่สีเขียว
ผนึกกำลังบริษัทในกลุ่ม สู่การช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน
จากบทบาทต่างๆ ที่สะท้อนผ่านโครงการจำนวนมาก ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกถึงปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่านี่คือการร่วมมือครั้งสำคัญของบริษัทในกลุ่มพลังงาน โดยมีป้าหมายเดียวกันคือการยืนเคียงข้างสังคมในยามที่เกิดวิกฤต เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ องค์กร
สิ่งนี้กลายเป็นเหมือนหมุดหมายที่น่าสนใจของการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งวิกฤตได้เข้ามาเร่งให้เราเห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้นว่าลำพังเพียงการต่อสู้ให้แบรนด์รอด ไม่สามารถจะช่วยให้องค์กรไปต่อได้อย่างมั่นคง แต่องค์กรจะต้องมองให้ไกลกว่านั้น ต้องพร้อมเสมอที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง และร่วมฝ่าฟันวิกฤตไปพร้อมกันกับทุกคน เพื่อสร้างสังคมที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันอย่างแท้จริง ดังเช่นกรณีศึกษาจากกลุ่มบริษัท ปตท. ในครั้งนี้