‘ดีลอยท์’ เตือนธุรกิจเร่งแผน ‘เทิร์นอะราวด์’ รับโลกใหม่ – กรุงเทพธุรกิจ

วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติด้านสุขภาพที่นําไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ (key business drivers) ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และการพักชําระหนี้ช่วยได้แค่ประคับประคอง ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้น

“กมลวัลย์ ชุณหกสิการ” พาร์ทเนอร์ และ “วงศกร ใจอิ่ม” ผู้ช่วยผู้อำนวยการTurnaround & Restructuring Services ดีลอยท์ ประเทศไทย ออกบทวิเคราะห์ในเรื่องนี้ โดยระบุว่า โควิด-19 พลิกโฉมหน้าธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง ผลักบริษัทที่สถานะการเงินย่ำแย่อยู่แล้วเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทําให้บริษัทที่มีสถานะการเงินแข็งแรงอ่อนแอลง หากเร่งการเติบโตและดันอนาคตของบางธุรกิจมาถึงเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน 

พฤติกรรมใหม่คือจุดเปลี่ยน

พฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคบางส่วนที่เปลี่ยนไป กำลังนําไปสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ ธุรกิจจึงต้องทําความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ปรับปรุงรูปแบบสินค้าและบริการ รวมถึงช่องทางขายและบริการให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง คงความสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง 

โควิด-19 ทําให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และดิจิทัลมากขึ้น จนเกิดความคุ้นชินและยอมรับบริการรูปแบบนี้ ขณะที่ ความไม่แน่นอนทางเศรฐกิจทําให้การใช้จ่ายเปลี่ยนไป มุ่งซื้อสินค้าที่จําเป็น นําไปสู่การลองและค้นพบสินค้าและบริการรูปแบบใหม่

การรับประทานอาหารเป็นหนึ่งในพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน จากรายงาน Global State of the Consumer Tracker 2020-2021 ของดีลอยท์ พบว่า โรคระบาดทำให้การทานอาหารนอกบ้านลดลง ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย รวมกับความชอบที่เปลี่ยนไปและความสะดวกสบายขึ้นของการทําอาหารที่บ้าน การเข้าถึงวัตถุดิบหลากหลายและสะดวก ทําให้ผู้บริโภคจํานวนหนึ่งเห็นคุณค่าและประโยชน์การปรุงอาหารทานที่บ้านมากกว่าที่เคยเป็นมา

ขณะที่ ธุรกิจซึ่งเชื่อมโยงกันภายใต้ห่วงโซ่อุปทานโลก ขาดตอนและหยุดชะงักจากข้อจํากัดในการขนส่งและเดินทาง ธุรกิจจึงหันมาทบทวนกระบวนการผลิตและกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่อุปทานใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงซัพพลายเออร์หรือฐานการผลิตที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป นําไปสู่การโยกย้ายฐานการผลิต และลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยเข้าถึงข้อมูลในทุกกระบวนการในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงทําได้ดีขึ้น

อีกเรื่องสำคัญ การเวิร์คฟรอมโฮม หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Work) ต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการบริหารบุคลากร ธุรกิจจึงต้องทบทวนการสร้างประสบการณ์ให้พนักงาน ดีไซน์รูปแบบการทํางานใหม่ พัฒนาทักษะที่จําเป็น เพื่อดึงดูดและรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีทักษะดิจิทัลสูง

ดีลอยท์ ชี้ว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมเร่งให้กิจกรรมต่างๆ เปลี่ยนผ่านจากระบบออฟไลน์เข้าสู่ระบบออนไลน์และดิจิทัลเร็วขึ้นธุรกิจต้องยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของระบบและคนในองค์กร

นอกจากนี้การที่สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงกันกับสินทรัพย์อื่นๆ ทําให้ปริมาณข้อมูลมีมาก เป็นแหล่งขององค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ นําไปสู่โอกาสทางธุรกิจในอนาคต

หลายอุตสาหกรรมมีการนําข้อมูลมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Data Monetization) ซึ่งแพร่หลายมาก ในกลุ่มสื่อออนไลน์และการซ้อปปิ้งออนไลน์ เช่น การที่แอพพลิเคชั่นซ้อปปิ้งออนไลน์จดจําว่าเรากําลังสนใจสินค้าอะไรหรือเคยซื้อสินค้าอะไร และสามารถที่จะนําเสนอสินค้าเพิ่มเติม รวมทั้งโปรโมชั่นให้แก่เราได้

โควิด-19 นํามาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ธุรกิจต้องประเมินสถานการณ์ บริษัทที่มีความพร้อมจะทุ่มทรัพยากรและใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว

เรื่องสําคัญที่ผู้บริหารควรคํานึงถึงในการจัดทําแผนเทิรน์อะราวด์ภายใต้สภาวะการณ์โควิด-19 จะมีเพิ่มเติมไปจากการจัดทําแผนธุรกิจประจําปี เช่น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลต่อโอกาสและความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างไร สภาพคล่องทางการเงินมีเสถียรภาพอย่างไร 

รูปแบบโครงสร้างการบริหารงานมีความจําเป็นต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นหรือมีความได้เปรียบทางการค้าและการแข่งขันต่อไปหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงอาจจะอาศัยความร่วมมือระหว่างคู่ค้าหรือไม่ รวมถึงความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนในกรณีฉุกเฉิน ฯลฯ

Exit mobile version