ถอดบทเรียน “Voucher ทิพย์” “ดารุมะ” บุฟเฟต์ตุ๋นเงินร้อยล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ –  ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ สำหรับมูลค่าความเสียหายที่สูงมากกว่า 100 ล้านบาท สำหรับกรณีร้านดัง “ดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi)” ที่หลอกขาย “เวาเชอร์ทิพย์(Voucher ทิพย์) บุฟเฟต์แซลมอน ราคาถูก 199 บาท ก่อนพบว่าโดนเท ทุกสาขาปิดกิจการเงียบ แถมเจ้าของชิ่งหนีไปต่างประเทศ และกลายเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชนคนไทยอย่างกว้างขวาง กระทั่งถึงกับต้อง “ถอดบทเรียน” กันเลยทีเดียว เพราะนี่ไม่ใช่ “ครั้งแรก” ที่เกิดเหตุทำนองนี้ 

แน่นอน คำถามสำคัญก็คือ ทำไมถึงต้อง “เท” ทำไมถึงต้อง “หนี” และทำไมธุรกิจถึงไป “ไม่รอด”

 “นายเมธา ชลิงสุข” หรือ “บอลนี่” เจ้าของ “ร้านดารุมะ ซูชิ” ซึ่งถูกจับกุมหลังเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่มีเจตนาจะฉ้อโกง แต่เนื่องจากธุรกิจดารุมะซูชิ เจอวิกฤตขาดสภาพคล่อง จึงปิ๊งไอเดียผุดแคมเปญขายคูปองออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2563 แต่ลดราคาลงมาต่ำสุด เมื่อเดือนมกราคมปี 2565 จึงตัดสินใจทำโปรโมชั่นเวาเชอร์ 199 บาท เพื่อนำเงินเข้าระบบให้ธุรกิจได้ไปต่อ โดยมีเงินเข้าบัญชีวันละ 1 ล้านบาท แต่สุดท้ายไปไม่รอด มีหนี้สินจำนวนมาก ทำให้ต้องหลบหนีไปสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาชดใช้กรรมดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายในประเทศไทย

ทั้งนี้ แม้ “นายเมธา” จะให้การเช่นนั้น แต่คำตอบของเขาไม่ชวนให้เชื่อเลยแม้แต่น้อย แถมสังคมยังฟันธงเปรี้ยงไปอีกด้วยว่า มีเจตนาฉ้อโกงตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่ เพราะพิจารณาราคาวัตถุดิบ อย่าง “แซลมอน” การทำโปรโมชั่นในราคา 199 บาทต่อหัว แต่จำหน่ายขั้นต่ำจำนวน 6 ใบขึ้นไป บวกลบคูณหารอย่างไรก็ขาดทุน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ดำเนินธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท

ดารุมะ ซูชิ มีสาขาทั้ง 27 แห่ง มีทั้งการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ (ค่าลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของร้านดารุมะ ซูชิ อยู่ที่ 2.5 ล้านบาท อายุสัญญา 5 ปี) โดย นายเมธา ชลิงสุข เป็นเจ้าของเพียง 7 สาขา อีก 20 สาขาเป็นร้านแฟรนไชส์

ข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562,2563 และ 2564 ทางบริษัทมีกำไร ตั้งแต่ 1-1.7 ล้านบาท จากรายได้รวมปีละ 39-45 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 39,004,873 บาท รายจ่ายรวม 37,527,541 บาท กำไร 1,004,376 บาท, ปี 2563 รายได้ 43,762,122 บาท รายจ่ายรวม 41,214,509 บาท กำไร 1,778,984 บาท และปี 2564 รายได้ 45,621,832 บาท รายจ่ายรวม 42,237,324 บาท กำไร 1,256,609 บาท

ที่ต้องจับตาคือการขยายผลของตำรวจว่าจะสามารถติดตามความเสียหลายนับร้อยล้านบาทจากการขายเวาเชอร์ดารุมะได้หรือไม่ เพราะหลังถูกจับกุมพบว่า นายเมธามีเงินติดตัวแค่ 700,000 บาท และเงินในบัญชีอีกแค่ 100,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเส้นทางการเงินว่ามีการยักย้ายถ่ายเทหรือไม่ และถ้าหากมี นายเมธาจะถูกดำเนินคดีในข้อหา “ซักฟอกเงิน” อีกหนึ่งกระทง

อย่างไรก็ตาม กรณีบุฟเฟต์แซลมอน “ดารุมะ” เป็นบทเรียนราคาแพงทั้งฝั่ง “ผู้บริโภค” และ “เจ้าของธุรกิจ” (ผู้ซื้อแฟรนไชส์)
 
 พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคม.) เปิดเผยว่า สำหรับคดีของร้านดารุมะซูชินั้นมีผู้เสียหายจำนวนมากถึงหลายพันคน และมีความเสียหายหลักร้อยล้านบาท โดยแบ่งผู้เสียหายออกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปใช้, ผู้เสียหายที่ซื้อคูปองไปขายต่อ และ ผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์  โดยในส่วนผู้เสียหายที่ซื้อแฟรนไชส์ ตรวจสอบพบว่าเมื่อซื้อแฟรนไชส์ ทางผู้บริหารจะเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ หรือการตกแต่งร้าน ผู้ลงทุนเพียงแค่จ่ายเงินค่าแฟรนไชส์เท่านั้น โดยค่าแฟรนไชส์ประมาณ 2.5 ล้านบาท ซึ่งไม่มีส่วนในการบริหารงานแต่อย่างใด โดยจะได้รับเงินปันผล 10% ของยอดขาย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าแฟรนไชส์ไม่ใช่แค่ลงทุนและรอรับเงินปันผล เพราะนั่นเป็น “แชร์ลูกโซ่”  ไม่ใช่ธุรกิจ ดังนั้น กรณีดารุมะนับบทเรียนให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเองในลักษณะธุรกิจแฟรนไชส์
 
ด้านสภาองค์กรผู้บริโภค ระบุว่ากรณีของดารุมะผู้บริโภคสามารถเรียกร้องตามสิทธิที่เป็นผู้เสียหาย โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ หากซื้อกับร้านโดยตรงสามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของร้าน แต่ถ้าซื้อคูปองกับกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ผู้บริโภคอาจเรียกร้องกับผู้ค้าคนกลาง ดังนั้น หากผู้บริโภคซื้อขายกับคู่กรณีใดก็ต้องไปดำเนินการกับคู่กรณีนั้น

ขณะเดียวกันผู้ค้าคนกลางก็ต้องดำเนินการกับเจ้าของกิจการต่อไป เพราะเป็นผู้เสียหายเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้บริโภคต้องพิจารณาและตระหนักถึงสินค้าที่จะซื้อเพื่อบริการให้มากขึ้น แม้ในบางธุรกิจอาจดำเนินการมาระยะหนึ่งจนสร้างความน่าเชื่อถือได้ แต่ในธุรกิจที่จัดโปรโมชั่นราคาถูก ซึ่งสวนทางกับราคาต้นทุนสินค้าจริง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แค่ช่วงระยะสั้น หากระยะยาวคงเป็นไปได้ยากกับสถานการณ์โลกที่ยังผันผวน


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญาณในการซื้อมากขึ้นด้วย น่าสนใจว่าในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการควบคุมในเรื่องการทำการตลาดอย่างไร จะเข้ามากำกับดูแลสิทธิของผู้บโภคเช่นไรเพื่อหยุดวงจรดังกล่าว
เพราเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรณี “เวาเชอร์ทิพย์”  ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในปี 2562 กรณีร้านซีฟู้ด  “แหลมเกต” ร้านชื่อดังจากชลบุรีที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 30 ปี เปิดขายเวาเชอร์ในราคาถูกจัดโปรโมชั่นเริ่มตั้งแต่ 100 บาท จากราคาปกติ 888 บาท ทำให้มีผู้สนใจนับหมื่นๆ ใบ ซึ่งในช่วงแรกลูกค้าที่ได้เข้าไปรับประทานอาหารแล้วใช้บริการได้จริง มีรีวิวบอกต่อปากต่อจนมีผู้หลงเชื่อซื้อเวาเชอร์เป็นจำนวนมาก ทว่า ไม่กี่เดือนถัดมาแหลมเกตได้มีประกาศยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น และปิดร้านอาหารปิดถาวรทุกสาขา โดยอ้างว่าวัตถุดิบจากแหล่งผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะใช้วัตถุดิบสูงเกินกว่าที่คาดการณ์

ทำให้ลูกค้ารวมตัวกันยื่นแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ต่อมา 10 มิ.ย. 2563 ศาลอาญา พิพากษาให้ บริษัท แหลมเกตุ อินฟินิท จำกัด , นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ หรือโจม พารุณจุลกะ ,น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา มีความผิดฐานร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พรบ.คอมฯจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทงให้จำคุกจำเลยที่ 2,3 ทุกกระทง กระทงละ 2ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี ปรับรวม 3.6 ล้านบาท และบริษัทต้องชดใช้ด้วยการคืนเงินผู้เสียหายร่วม 2.5 ล้านบาท

ทั้งกรณีร้านซีฟู้ดแหลมเกต และ ร้านดารุมะ ซูชิ ซึ่งปิดขายคูปองบุฟเฟต์ในราคาถูกผ่านระบบออนไลน์ นำสู่คคดีฉ้อโกงประชาชน และคดีอื่นๆ มีการจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจซึ่งได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะหากทบทวนบทบาทของผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาไม่ได้มีการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการขายเวาเชอร์-คูปองล่วงหน้าของธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

 นายโสภณ หนูรัตน์  หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ซื้อคูปองบุฟเฟต์ของดารุมะ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจุบันธุรกิจที่มีการขายเวาเชอร์-คูปองไม่มีกฎหมายกำกับคนขาย ว่าใครที่จะประกอบธุรกิจนี้จะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐ ทั้งที่ตามระเบียบนั้นพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของผ่านระบบออนไลน์ ทั้งที่ขายผ่านช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่มียอดขายเกินกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนเป็น  “ผู้ค้าตลาดแบบตรง” ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2560 เพื่อยืนยันว่าเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ขณะที่ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

ในลักษณะเดียวกัน เวาเชอร์-คูปองเหล่านี้ขายผ่านออนไลน์เหมือนกันแต่ไม่มีการจดทะเบียน ซึ่งจริงๆ ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะโดยพื้นฐานไม่ว่าจะขายอะไรผ่านระบบออนไลน์จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ธุรกิจที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าไม่มีการกำกับเป็นการเฉพาะ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการกำกับตลาดขายตรง และการขายของออนไลน์เป็นตลาดขายตรงรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นโดยหลักธุรกิจที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ต้องไปจดทะเบียนกับ สคบ.

“ถ้าดึงผู้ค้าเข้ามาอยู่ในระบบจะมีเกณฑ์เรื่องการวางหลักประกัน สามารถกำหนดกติกาได้ว่าต่อไปนี้ใครที่จะขายวอชเชอร์ คูปอง ส่วนลด ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์ต่างๆ ถ้าจะขายต้องจดทะเบียน ต้องวางหลักประกัน เช่น กรณีที่มีปัญหาอย่างดารุมะ ผู้บริโภคสามารถไปรับเงินเยียวยาจากหลักประกันที่วางไว้ได้” นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ

ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อาศัยอำนาจตามกฎหมายทะเบียนพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือบริการทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์หรือ Social Media ต้อง  “จดทะเบียนพาณิชย์การประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์”  เพื่อให้ผู้ประกอบการแสดงตนอย่างเปิดเผยต่อทางราชการ และเพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือจากการมีสถานะตัวตนทางกฎหมาย อันจะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้วย

โดย  “ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2553 มาตรา 5” ซึ่งบังคับให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจ ดังต่อไปนี้ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ได้แก่ กิจการที่มีการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์จึงนับเป็นพาณิชยกิจที่ต้องจดทะเบียนตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว

นอกจากปัญหาการซื้อคูปองบุฟเฟต์ล่วงหน้าแต่ไม่สามารถใช้บริการได้เนื่องจากผู้ประกอบการปิดกิจการหนี ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการซื้อบัตรล่วงหน้าเพื่อใช้บริการในอนาคต ทั้งวอชเชอร์ แพกเกจทัวร์ และตั๋วคอนเสิร์ต เช่น จองวอชเชอร์โรงแรม โดยจองไว้ก่อนโควิด แต่พอจะใช้จริงกลับใช้ไม่ได้เนื่องจากธุรกิจโรงแรมประสบปัญหาเศรษฐกิจ การซื้อแพกเกจทัวร์ซึ่งลูกค้าซื้อไว้แล้วพอถึงวันนัดหมายกลับติดต่อเอเยนต์ทัวร์ไม่ได้ ซึ่งสาเหตุมาจากพิษโควิดเช่นกัน

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอแนวทางในการควบคุมดูแลการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าของธุรกิจต่างๆ โดย สคบ. ซึ่งกำกับดูแล  “กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง”  กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการควบคุมดังนี้

1) กำหนดให้ธุรกิจที่มีการขายตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยืนยันตัวตน ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อและในกรณีที่มีปัญหาสามารถติดตามทวงถามได้

2) ต้องมีการออกระเบียบเพื่อควบคุมการนำตั๋วหรือคูปองล่วงหน้ามาขาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่น คูปองที่ขายล่วงหน้าสามารถใช้ได้ภายในระยะเวลาเท่าไร จำนวนที่จะขายล่วงหน้าควรเป็นเท่าไหร่ กำหนดจำนวนคูปองที่จะขายต่อครั้ง-ต่อคนให้ชัดเจนว่าควรเป็นเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการกว้านซื้อเพื่อนำมาขายฟันกำไร อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าของธุรกิจใช้การขายวอชเชอร์ล่วงหน้าเป็นช่องทางในการหลอกเอาเงินจากลูกค้าแล้วปิดกิจการหนีอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

3) ต้องมีหลักประกันให้แก่ผู้ซื้อตั๋วหรือคูปองล่วงหน้าว่าหากซื้อไปแล้วไม่สามารถใช้ได้จะเรียกร้องเงินคืนจากเจ้าของธุรกิจหรือหน่วยงานไหน อย่างไร และต้องกำหนดว่าผู้เสียหายได้เงินคืนภายในระยะเวลาเท่าไหร่

ตามที่กล่าวในข้างต้น การจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าของธุรกิจซึ่งได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ถึงเวลาต้องทบทบาทของผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกำกับดูแลการขายวอชเชอร์-คูปองล่วงหน้าของธุรกิจต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอย่างจริงจัง

แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถเอาผิดได้ตามกฎหมายเพราะว่ามีความผิดค่อนข้างที่จะชัดเจนและเจตนาค่อนข้างที่จะชัดเจน โดยลูกค้าที่ซื้อคูปอง สามารถฟ้องร้องไปที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในแง่ของพนักงานสามารถฟ้องร้องได้ที่กรมแรงงานและในแง่ของแฟรนไชส์เองก็ร้องได้ที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

Exit mobile version