มหกรรมช็อปปิ้งวันคนโสด 11.11 ของจีน สุดกร่อย อาลีบาบาไม่เผยยอดขายเป็นปีแรก

มหกรรมช็อปปิ้งวันคนโสด-11.11-ของจีน-สุดกร่อย-อาลีบาบาไม่เผยยอดขายเป็นปีแรก

มหกรรมช็อปปิ้งวันคนโสด “11.11” ของชาวจีนปีนี้ไม่คึกคักเท่าทุกปีที่ผ่านมา คาดตัวเลขซื้อสินค้า 12 ชม.แรกลดลง 4.7% โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก “อาลีบาบา” ไม่ออกมาเปิดเผยตัวเลขยอดขาย

เว็บไซต์ข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เมื่อวานนี้ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 หรือ “11.11” ตรงกับวันคนโสดของชาวจีน และเป็นเทศกาลช็อปปิ้งออนไลน์ครั้งใหญ่ที่สุดของปี ซึ่งในแต่ละปีบรรดาร้านค้าจะพากันจัดโปรโมชั่นลดราคากระหน่ำ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้ทะลุหลายพันล้านหยวน และยังเป็นดัชนีชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน แต่ปรากฏว่าปีนี้บรรยากาศการช็อปปิ้งดูเงียบเหงากว่าทุกปี เนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมืองที่จีน และภาวะเศรษฐกิจซบเซาทำให้ชาวจีนบางส่วนต้องรัดเข็มขัดการใช้จ่าย

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandising Value) หรือ GMV ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบา เจดีดอทคอม และพินตัวตัว จะเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้นเพียงหลักเดียว ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความต้องการของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง อันเป็นผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เคร่งครัดของจีน และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นับเป็นปีแรกที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านค้าอย่างอาลีบาบา ที่เป็นเจ้าของธุรกิจแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์เถาเป่า และทีมอลล์ ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดขายวันช็อปปิ้งคนโสด หลังจากที่ได้จัดมหกรรมลดราคาสินค้าดังกล่าวทุกปีมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในแถลงการณ์ของอาลีบาบา ระบุว่า เทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสดปีนี้ มีผลลัพธ์เช่นเดียวกับมูลค่าสินค้ารวมของในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค และผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากโควิดก็ตาม

ด้านนายหวัง เสี่ยวเฟิง นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยทางธุรกิจฟอร์เรสเตอร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ถึงแม้ยอดขายออนไลน์วันคนโสดของจีนปีนี้จะไม่คึกคัก แต่ยอดขายโดยรวมก็น่าจะแตะหลักล้านล้านหยวนในสัปดาห์นี้ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ยอดขายคงอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืนทุกปี และเชื่อว่าบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ต่างตระหนักว่าตัวเลขยอดขายในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน ทำให้พวกเขาหันไปเน้นที่ประสบการณ์ของผู้บริโภค ตลอดจนความจงรักภักดีและการมีส่วนร่วมที่ทางลูกค้ามีต่อแบรนด์ต่างๆ แทน.

Exit mobile version