instagram/darumasushiofficial

ที่มาของภาพ, instagram/darumasushiofficial

คำบรรยายภาพ,

ผู้เสียหาย นอกจากเป็นลูกค้ารายย่อยที่ซื้อเวาเชอร์ตรงจากทางร้าน ยังมีกลุ่มแม่ค้า ที่กดซื้อเวาเชอร์เพื่อนำไปขายแก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง

ร้านบุฟเฟต์แซลมอนที่ชื่อว่า ดารุมะ ซูชิ ปิดให้บริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หลังจากมีการขายคูปองหรือเวาเชอร์ในราคา 199 บาท และมีผู้บริโภคซื้อไปเป็นจำนวนมาก ทำให้กระทั่งเจ้าของแฟรนไชส์ที่ซื้อร้านมาถูกลอยแพไม่ต่างจากลูกค้าที่ซื้อคูปอง โดยคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมราว 20 ล้านบาท

กรณีดังกล่าวลูกค้าที่ซื้อคูปองเริ่มโพสต์ถึงความไม่ปกตินี้ตั้งแต่วันศุกร์ (17 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เมื่อติดตามข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจของร้าน พบว่าไม่สามารถเข้าถึงได้

ดารุมะ ซูชิ มีสาขา 24 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีทั้งการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ ที่ผ่านมาร้านมีจุดขาย คือการจำหน่ายเวาเชอร์รับประทานอาหารบุฟเฟต์ผ่านแอปพลิเคชั่น ล่าสุดได้จัดโปรโมชั่นในราคา 199 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป และบัตรแต่ละใบมีอายุถึง 6 เดือน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ ระบุว่าจะพาตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อคูปองโปรโมชั่นของร้านดารุมะ ซูชิ เข้าร้องเรียนต่อตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในวันที่ 20 มิ.ย.

ธุรกิจบุฟเฟต์แซลมอนที่มีร้าน 24 สาขา มีเจ้าของเป็นใคร และมีรายได้ย้อนหลังขาดทุนหรือกำไร ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ดำเนินธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 87 โครงการ เดอะ แจส รามอินทรา ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

ข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562,2563 และ 2564 ทางบริษัทมีกำไร ตั้งแต่ 1-1.7 ล้านบาท จากรายได้รวมปีละ 39-45 ล้านบาท

  • ปี 2562 รายได้ 39,004,873 บาท รายจ่ายรวม 37,527,541 บาท กำไร 1,004,376 บาท
  • ปี 2563 รายได้ 43,762,122 บาท รายจ่ายรวม 41,214,509 บาท กำไร 1,778,984 บาท
  • ปี 2564 รายได้ 45,621,832 บาท รายจ่ายรวม 42,237,324 บาท กำไร 1,256,609 บาท

นายเมธา ยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท ดารุมะ ซูชิ โก จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลงบการเงิน

พบบริษัทดารุมะ จัดการบัญชีแต่เพียงผู้เดียว

กฤชฐารวี พิจิตรพงศ์ชัย หนึ่งในเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งซื้อกิจการมาทั้งหมด 6 สาขา ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก Krittharawee Arys Pichitpongchai ว่า เธอและเจ้าของแฟรนไชส์รายอื่นอีกกว่า 10 สาขา ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกัน รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดารุมะและผู้บริหาร

ส่วนระบบการประกอบการแฟรนไชส์ กฤชฐารวี ระบุว่า เจ้าของแฟรนไชส์ผู้เสียหายได้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์เพื่อเปิดสาขา โดยมีบริษัทดารุมะ เป็นผู้บริหารจัดการและเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน การจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ ซึ่งทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ

“ณ เวลานี้ทางกลุ่มผู้ลงทุนพยายามติดต่อผู้บริหารบริษัทดารุมะ เพื่อรอฟังคำชี้แจง” กฤชฐารวี ระบุ

สำหรับราคาลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของร้านดารุมะ ซูชิ อยู่ที่ 2,500,000 บาท มีอายุสัญญา 5 ปี

ผู้บริโภคควรทำอย่างไร

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แนะนำว่าให้ผู้ซื้อเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคูปองล่วงหน้า หลักฐานการคุยในแอปฯ หรือแชท หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ขอให้ผู้บริโภคติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรขอเงินคืนโดยด่วน

ด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุกับไทยพีบีเอสว่า หากไม่สามารถติดต่อหรือหาแนวทางการรับผิดชอบจากร้านค้าได้ ผู้บริโภคสามารถที่จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อดำเนินคดีทางอาญา ในเหตุหลอกให้เสียทรัพย์ต่อไป

ย้อนคดีโปรโมชั่นบุฟเฟต์แหลมเกต ถูกจำคุกรวม 1,446 ปี

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2561-2562 ร้านอาหารทะเลแหลมเกต ได้มีการจัดโปรโมชั่นโดยการจัดทำเวาเชอร์และอี-คูปอง หลากหลายรูปแบบออกมาจำหน่ายกว่า 57 โปรโมชั่น โดยคิดค่าอาหารแตกต่างกัน แต่ละโปรโมชั่นมีราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เช่น โปรราชาทะเลบุฟเฟ่ต์ ขายเป็นชุดละ 880 บาท มี 10 ใบ หรือที่นั่งละ 88 บาท ลูกค้าต้องจองคิววันเข้าไปรับประทานอาหารผ่านทางระบบออนไลน์ของร้านถึงจะเข้าไปรับประทานอาหารได้

ในช่วงแรกลูกค้าที่ได้เข้าไปรับประทานอาหารแล้วใช้บริการได้จริง เมื่อประชาชนทั่วไปพบเห็นโฆษณาและรีวิวจากผู้ที่เคยเข้ามาใช้บริการแล้วจึงหลงเชื่อและซื้อบัตรรับประทานอาหาร ต่อมาประสบกับปัญหาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสำรองที่นั่งที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ไม่สามารถสำรองที่นั่งได้ จนทางร้านขอยกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น โดยอ้างว่า วัตถุดิบจากแหล่งผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะใช้วัตถุดิบสูงเกินกว่าที่คาดการณ์

กรณีนี้มีการดำเนินคดีจากผู้เสียหาย เมื่อปี 2563 ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 1,446 ปี บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด พร้อมกับจำเลยอีก 2 คน และปรับ 3,615,000 บาท ในความผิดร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา เเละพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์