เมื่อมี “หนี้” แต่เริ่มผ่อนไม่ไหว… ชวนทำความรู้จัก “รีไฟแนนซ์” หนึ่งในทางเลือกลดภาระทางการเงิน – การเงินธนาคาร

“รีไฟแนนซ์” (Refinance) คำศัพท์ทางการเงินที่มักจะได้ยินกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กู้ซื้อบ้านคอนโดมิเนียม รวมถึงรถยนต์ ที่หลายคนหันมาสนใจมากขึ้น และเลือกเป็นทางออกหนึ่งในการเปลี่ยนเจ้าหนี้ใหม่ ที่มาพร้อมเงื่อนไขการกู้ยืมที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

“การเงินธนาคาร” (MONEY AND BANKING THAILAND) จะชวนมาทำความรู้จักการรีไฟแนนซ์กันว่าคืออะไร ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอย่างไรบ้าง และไขข้อข้องใจว่าจะช่วยให้ประหยัดขึ้นจริงหรือไม่?

แต่ก่อนอื่นนั้น หากขณะนี้ใครที่กำลังอยู่ในภาวะ “ผ่อนไม่ไหว” หรือเริ่มเข้าสู่สถานะขาดสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อเงินไม่พอใช้หนี้ สิ่งแรกที่อย่างแนะนำคือ การมองหาวิธีการแก้ไขหนี้ และพยายามไม่ก่อหนี้เพิ่มเติม รวมถึงไม่ควรหลบหน้าเจ้าหนี้ อาจเข้าหาเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินเพื่อปรึกษาและขอแก้ไขหนี้ อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การหันกลับมาสำรวจการเงินของตัวเอง ขณะเดียวกันการหารายได้เสริมก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย

ขณะเดียวกันหลายคนที่กู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม อาจเลือกวิธีการ “รีไฟแนนซ์” (Refinance) เป็นหนึ่งในทางออกของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน 

@ “รีไฟแนนซ์” คืออะไร?

โดยการรีไฟแนนซ์ คือ การเปลี่ยนเจ้าหนี้ใหม่ หรือการก่อหนี้ใหม่เพื่อนำมาใช้หนี้เก่า ซึ่งเป็นการไถ่ถอนหนี้จากผู้ให้สินเชื่อหรือเจ้าหนี้เดิม มาขอกู้จากผู้ให้สินเชื่ออีกแห่งหนึ่ง หรือต้องการรวมหนี้จากเจ้าหนี้หลายรายมาเป็นเจ้าหนี้รายเดียว 

ที่น่าสนใจคือ ประโยชน์ที่ได้นั้นจะดีกว่าเดิม นั่นคืออัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ที่จะส่งผลให้อนาคตนั้นการผ่อนชำระในแต่ละงวดจะลดลง โดยมีระยะเวลาที่กำหนดตามเจ้าหนี้ใหม่ที่ระบุไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำในปีแรกๆ หรือเจ้าหนี้ใหม่อาจมีข้อเสนออื่นๆ มาดึงดูดเช่นกัน 

@ ข้อชวนคิดก่อนจะ “รีไฟแนนซ์”

แต่อย่างไรก็ตามควรคำนวณก่อนตัดสินใจว่า การรีไฟแนนซ์ครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นช่วยให้ประหยัดขึ้นได้บ้างน้อยแค่ไหน โดยเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินต่างๆ และลดภาระหนี้ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากว่าการทำรีไฟแนนซ์นั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นค่าเบี้ยปรับจากเจ้าหนี้เดิมในกรณีที่มีการไถ่ถอนก่อนกำหนด 

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเอกสารเพื่อนำไปพิจารณาสินเชื่อใหม่ทั้งหมดด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาพอสมควร เนื่องจากหลังจากที่เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและตัดสินใจได้แล้ว จะต้องติดต่อสถาบันการเงินเดิมเพื่อขอสเตทเมนท์สรุปยอดหนี้เงินกู้ หรือจะรวบรวมใบเสร็จที่ชำระเงินกู้ย้อนหลัง เพื่อที่จะนำเอกสารนี้ไปยื่นกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ เป็นต้น 

ขณะเดียวกันจะต้องมีการนัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดิน เมื่อได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงินแห่งใหม่ รวมถึงวันนัดที่จะทำสัญญาและโอนทรัพย์ที่จะใช้จำนอง และการทำเรื่องโอนที่ ณ สำนักงานที่ดินในเขตที่บ้านหรือคอนโดมิเนียมตั้งอยู่ 

@ เปิดรายละเอียด “รีไฟแนนซ์” มีค่าใช้จ่ายอะไร?

ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งอาจต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้เดิม ในกรณีที่เป็นค่าเบี้ยปรับจากเจ้าหนี้เนื่องจากมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด เช่น กรณไถ่ถอนบ้านในช่วง 2-3 ปีแรก ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะคิดค่าปรับประมาณ 2-5% ของวงเงินกู้ หรือยอดเงินต้นคงเหลือ 

ส่วนที่ 2 เป็นการค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ ได้แก่ 

– ค่าประเมินหลักประกัน อยู่ที่ประมาณ 0.25-2% ของราคาประเมินของกรมที่ดิน หรือคิดเป็นประมาฯ 10,000-15,000 บาท 

– ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ หรือค่าจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ อยู่ที่ประมาณ 0.25-2%

– ค่าประกันอัคคีภัย 

– ค่าจดจำนองหลักประกัน ประมาณ 1% ของวงเงินจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 

– ค่าอากรแสตมป์ อยู่ที่ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ แต่ไม่เกิน 10,000 บาท 

@ ส่องวิธีการคำนวน “ดอกเบี้ยที่จะประหยัดขึ้น” 

สูตรคำนวณเบื้องต้นดังนี้ 

ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้  =  เงินต้น X อัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ X จำนวนปีที่ได้โปรโมชั่น

หมายความว่า ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้นั้น มาจากเงินต้นคูณด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ (อัตราดอกเบียที่อยู่สถาบันการเงินเดิม ลบกับอัตราดอกเบี้ยสถาบันการเงินที่จะรีไฟแนนซ์ และคูณด้วยจำนวนปีที่ได้โปรโมชั่น (จำนวนปีที่สถาบันการเงินใหม่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินเดิม)

ยกตัวอย่างเช่น เงินต้น 4,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายเดิม 6% ลบด้วยอัตราดอกเบี้ยใหม่ 3% และคุณด้วยจำนวนปีโปรโมชั่น 3 ปี จะได้ดอกเบี้ยที่ประหยัดได้  2,000,000 X (6-3 เท่ากับ 3%) X 3 = 360,000 บาท หลังจากนั้นนำมาหักลบค่าใช้จ่ายของการดำเนินการที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามการรีไฟแนนซ์ควรศึกษาความคุ้มค่าให้ดีก่อนการตัดสินใจ รวมถึงการปรึกษาสถาบันการเงิน และการนำดอกเบี้ยหรือข้อเสนอจากสถาบันการเงินใหม่มาพิจารณาประกันด้วย เพื่อให้เป็นทางเลือกและทางออกของการลดภาระหนี้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ 

อ้างอิง : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย 

https://www.1213.or.th/th/moneymgt/debtmgt/Pages/debtrelief.aspx

SET

https://www.set.or.th/set/financialplanning/glossary.do?contentId=7

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/refinance-howto-most-efficiently

Exit mobile version