5 competitive forces เครื่องมือวิเคราะห์การแข่งขันทางการตลาดของ Michael Porter
Michael Porter นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Harvard Business School ได้สร้างโมเดลการจำแนกและวิเคราะห์การแข่งขันทั้ง 5 ด้านในทางการตลาด ที่ทั้งหล่อหลอมธุรกิจและช่วยให้องค์กรได้รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง โมเดลดังกล่าวมีชื่อเรียกโดยย่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Porter’s Five Forces [1] The Five Competitive Forces [2] Five Forces Model รวมไปถึงการวิเคราะห์ 5 Forces [3]
โมเดลของ Michael Porter กำเนิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า อิทธิพลที่ส่งผลต่อบริษัทไม่ได้มีเพียงการบริหารจัดการภายในเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยทั้ง 5 ได้แก่ 1) อำนาจต่อรองจากลูกค้า (power of customers) 2) อำนาจต่อรองจากซัพพลายเออร์ (power of suppliers) 3) การคุกคามโดยผู้ประกอบการรายใหม่ (threat of new entrances) 4) การคุกคามจากสินค้าทดแทน (threat of substitutes) และ 5) การแข่งขันของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม (industry rivalry) [2, 3] แต่ละข้อมีรายละเอียดดังนี้
ข้อแรก อำนาจต่อรองจากลูกค้าเป็นสิ่งที่องค์กรควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่บริษัทที่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เท่านั้น ผู้บริโภคยังมีอำนาจในการต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรีวิวเพื่อแสดงความคิดเห็นให้บริษัทเปลี่ยนแปลงคุณภาพสินค้า ไปจนถึงการไม่ซื้อเพื่อต่อรองให้บริษัทปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น การกดดันไม่ซื้อสินค้าที่มีราคาแพงเกินไป เป็นต้น
ข้อถัดมา อำนาจต่อรองจากซัพพลายเออร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ การทำธุรกิจไม่ได้เป็นเพียงเรื่องระหว่างผู้ขายและลูกค้า แต่ยังรวมถึงซัพพลายเออร์ซึ่งเป็นผู้ส่งวัตถุดิบ หากวัตถุดิบขึ้นราคา ต้นทุนในการผลิตก็ย่อมสูงขึ้น โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจมักไม่สามารถต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้มากนัก ซัพพลายเออร์มักเป็นฝ่ายต่อรองราคาได้มากกว่า ดังนั้น ผู้ทำธุรกิจจึงควรทำความรู้จักซัพพลายเออร์ไว้ให้หลากหลายและเตรียมการรับมือการต่อรองจากซัพพลายเออร์ไว้เสมอ
ข้อสาม การคุกคามโดยผู้ประกอบการรายใหม่ แน่นอนว่าเมื่อมีร้านใหม่เกิดขึ้น ผู้บริโภคย่อมให้ความสนใจกับร้านที่กำลังมาใหม่ ยิ่งหากร้านที่เปิดใหม่นั้นมีโปรโมชั่น มีราคา หรือมีสิ่งดึงดูดที่โดดเด่นกว่าร้านที่เปิดอยู่แต่เดิม ยกตัวอย่างเช่นร้านหมูกระทะที่เปิดกันอยู่มากมาย หากมีร้านเปิดใหม่ที่ทำรสชาติได้ดีกว่า มีโปรโมชั่นมากกว่า ฐานลูกค้าของร้านเดิมก็ย่อมลดลงไป ผู้ประกอบการจึงควรสำรวจร้านที่เปิดใหม่เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนปรับปรุงร้านของตนให้ทันสมัยอยู่เสมอ
ข้อสี่ การคุกคามจากสินค้าทดแทน หากตัวอย่างในข้อสามคือร้านหมูกระทะ การคุกคามของสินค้าทดแทนก็เปรียบเสมือนการมาถึงของชาบูที่ถึงแม้จะไม่ใช่สินค้าประเภทเดียวกัน แต่ก็อาจเป็นร้านที่ตอบสนองความต้องการด้านปิ้งย่างให้กับลูกค้าได้ไม่ต่างกัน เจ้าของธุรกิจไม่ควรมองข้ามร้านที่สามารถเป็นสินค้าทดแทนได้ด้วย
ข้อสุดท้าย การแข่งขันกันของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ การแข่งขันกันย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกของลูกค้า ดังจะเห็นได้จากการเทียบราคาโปรโมชั่นของสายการบินที่ผู้โดยสารเลือกซื้อตั๋วโดยเปรียบเทียบราคาที่ถูกที่สุดจากแต่ละแห่ง ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องประเมินคู่แข่งร่วมอุตสาหกรรมไว้โดยละเอียดด้วย
แม้ว่าธุรกิจแต่ละประเภทอาจมีลักษณะการดำเนินงานรวมถึงโครงสร้างที่แตกต่างกัน แต่การวิเคราะห์ 5 forces ดังที่ได้กล่าวมานี้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินทิศทางการดำเนินงานได้อย่างรอบด้าน [2]
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
[1] THE INVESTOPEDIA TEAM. (February 21, 2020). Porter’s 5 Forces. Retrieved from https://www.investopedia.com/terms/p/porter.asp
[2] Harvard Business Review. (June 30, 2008). The Five Competitive Forces that Shape Strategy. Retrieved from https://youtu.be/mYF2_FBCvXw
[3] กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. (2021). การวิเคราะห์ 5 forces. สืบค้นจาก https://www.diprom.go.th/th/knowledge/mrk/5force
Porter’s Five Forces is a model that identifies and analyzes five competitive forces that shape every industry and helps determine an industry’s weaknesses and strengths. Five Forces analysis is frequently used to identify an industry’s structure to determine corporate strategy. Porter’s model can be applied to any segment of the economy to understand the level of competition within the industry and enhance a company’s long-term profitability. The Five Forces model is named after Harvard Business School prof
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :
เกี่ยวกับผู้เขียน
ลงทุนศาสตร์
ผมเขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนตั้งแต่เบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจที่จะลงทุนที่รักหรือมีทีท่าว่าจะรักในศาสตร์ของการลงทุนเหมือนกัน