นายธีร์ สีอัมพรโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เปิดเผยผ่านรายการ ”ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ถึงเหตุผลที่ ADVANC ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนใน บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ว่า เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมการใช้บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จนนำไปสู่การแข่งขันทางด้านราคา และโปรโมชั่นต่างๆอย่างดุเดือด
เหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาทำให้ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ต้องการขายธุรกิจดังกล่าว อีกทั้ง ADVANC มองว่าการเข้ามาลงทุนใน TTTBB และ JASIF จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขัน และการให้บริการลูกค้า ที่จะครอบคลุม และเกิดการเชื่อมต่อกันในการรับบริการควบคู่กันทั้งอินเตอร์เน็ตบ้าน และอินเตอร์เน็ตมือถือ ในพื้นที่ที่ ADVANC ยังเข้าไม่ถึงจากเดิมที่ ADVANC เป็นหนึ่งในโอเปอเรเตอร์ของบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว
ส่วนเหตุผลที่ ADVANC ทำสัญญาบังคับก่อน เพื่อให้เกิดการแก้ไขสัญญาการเช่าโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจาก JASIF นั้น นายธีร์ อธิบายว่า ธุรกิจโครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งสัญญาเดิมที่ JAS ได้ทำกับ JASIF ตั้งอยู่บนสมมติฐานกับการดำเนินธุรกิจเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ทั้งเรื่องของราคาต่อหน่วยที่พบว่า โอเปอเรเตอร์ต่างๆ ได้ลดราคาลงอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดจากการแข่งขันทั้งเรื่องของความเร็วอินเตอร์เน็ตที่เปลี่ยนไป จนส่งผลต่อราคาที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่เมื่อดูการให้บริการของ 3BB ถือว่าราคาเริ่มต้นยังสูงกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ
อีกทั้งการที่โอเปอเรเตอร์บางรายรวมถึง ADVANC ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้าน ควบคู่กับอินเตอร์เน็ตมือถือ ย่อมมีความได้เปรียบกว่าโอเปอร์เรเตอร์ ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตบ้านเพียงอย่างเดียว ซึ่งเห็นได้จากผู้ประกอบการในต่างประเทศที่มีความแข็งแกร่งจากการให้บริการอินเตอร์เน็ตทั้ง 2 ประเภทควบคู่กัน
นอกจากนี้ หากพิจารณาข้อมูลของ JASIF IFA Report เกี่ยวกับรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ที่ชำระเงิน หรือ ARPU ของโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จะเห็นได้ว่า ARPU เฉลี่ยต่อหมายเลขอินเตอร์เน็ตบ้านในปี 2564 อยู่ที่ 508 บาท และหากเจาะลึกลงไปในแต่ละผู้ให้บริการ ARPU ในปี 2564 ของ JAS อยู่ที่ 591 บาท , TRUE อยู่ที่ 469 บาท และ AIS อยู่ที่ 432 บาท นั้นเท่ากับว่า JAS เป็นเพียงรายเดียวที่ ARPU สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลาง ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นลูกค้าเก่าของ JAS เปลี่ยนไปใช้บริการกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่มี ARPU ต่ำกว่า
ทั้งนี้เหตุผลที่ทำให้ ARPU ของ JAS มีราคาสูงกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่น จากการเปิดเผยของ JASIF IFA Report นั้นเป็นเพราะ JAS มีต้นทุนเป็นค่าเช่าโครงข่ายจากกองทุน 352 บาท และต้นทุนการดำเนินงาน 244 บาท จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ADVANC มองว่า หาก 3BB จะอยู่ในธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตต่อไปได้ จำเป็นที่ต้องมีปรับแก้ไขค่าเช่าโครงข่ายจาก JASIF ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับโอเปอเรเตอร์รายอื่นได้ เพราะหาก JAS ยังดำเนินธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตก็ยังยิ่งขาดสภาพคล่อง และจำเป็นต้องอาศัยกระแสเงินสดผ่านการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และหมายถึงความไม่มั่นคงของรายได้ที่ JASIF จะได้รับจากค่าเช่าโครงข่าย
นายธีร์ จึงขอให้ผู้ถือหน่วยลงทุนพิจารณาข้อมูลทั้งหมดของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA)ได้นำเสนอต่อสาธารณชนถึงข้อดีและข้อเสียการคงอยู่ของสปอนเซอร์รายเดิม และการเข้ามาของสปอนเซอร์รายใหม่ ที่แม้จะขอให้มีการปรับโครงสร้างค่าเช่า แต่ยังคงสัญญาเช่าหลักและขยายอายุสัญญาเพิ่มอีก 6 ปี รวมเป็น 15 ปี โดยให้ยกเลิกการประกันรายได้ พร้อมกันนี้ยังเพิ่มการชำระค่าเช่าล่วงหน้า 3 ปีแรก จำนวน 3,000 ล้านบาท และปรับเงื่อไขเงินกู้ และลดดอกเบี้ยลง 0.5% ซึ่งจะทำให้กระแสเงินสดดีขึ้นใน 5 ปีแรก และลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่อปี ซึ่งจะทำให้สถานะของกองทุน JASIF มีความมั่นคงมากที่สุด และผู้ถือหน่วยลงทุนมีได้รับเงินปันผลเพิ่มมากขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลของนายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า อุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นำสู่การแข่งขันทางด้านราคา และการให้บริการที่ครอบวงจรมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา JAS ได้พยายามที่จะปรับทิศทางการทำธุรกิจด้วยการจับมือกับ DTAC แต่ก็ยังไม่สามารถลดต้นทุน นั้นหมายถึงกระแสเงินสดที่ลดลง และเกิดความเสี่ยงต่อกระแสเงินสดของ JAS ในระยะยาว เมื่อเทียบกับสปอนเซอร์รายใหม่อย่าง ADVANC ที่ถือมีความได้เปรียบมากกว่ากับการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต