– แต่มีมูลหนี้จริงที่การบินไทยยอมรับ และเป็นหนี้ก่อนวันที่ 14 ก.ย. 63 อยู่ที่ประมาณ 160,000-170,000 ล้านบาท ส่วนหนี้ที่เกินมาเนื่องจากเจ้าหนี้ได้ประเมินหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 2-3 ปี ซึ่งการบินไทยมองว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้น
– การบินไทยมีเจ้าหนี้ทั้งสิ้น 13,000 ราย
– การบินไทยจะไม่มีการลดหนี้เงินต้น หรือ Hair Cut
– เงื่อนไขการชำระหนี้ การบินไทยจะไม่แฮร์คัตหนี้ แต่จะผ่อนจ่ายเงินต้น โดยขอยกเว้นการชำระหนี้ใน 3 ปีแรก เพราะมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด จะเริ่มจ่ายหนี้ในปีที่ 4
– หากเจ้าหนี้โอเคเห็นชอบแผน ก็จะส่งแผนนี้ไปยังศาลล้มละลายกลางตัดสิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.64
– วันที่ 12 พ.ค. 64 นี้จะมีการโหวตจากเจ้าหนี้ว่าจะรับแผนการฟื้นฟูนี้หรือไม่
โดยคณะผู้ทำแผนเสนอให้ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล เป็นผู้บริหารแผนภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป โดยได้เตรียมความพร้อมไว้อย่างดี เช่น เตรียมแผนการประกอบธุรกิจ เตรียมแผนปรับโครงสร้างองค์กร เป็นต้น

การบินไทยจะเป็นสายการบินเอกชนคุณภาพสูง
ผู้บริหารการบินไทยได้ให้ชื่อยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ว่า “การบินไทย จะเป็นสายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง” หรือ Private High Quality Full Service Carrier with Strong Thai Brand, Connecting Thailand to the World and Generating Consistently Healthy Profit Margin ดังนี้
1. เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้า โดยการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ และบริการด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพสูง โดยมีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
2. เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น โดยมีผลตอบแทนรายได้และกำไรของธุรกิจจากการนำเสนอบริการเสริมเพื่อเป็นตัวเลือกอย่างเต็มรูปแบบ มีการผสมผสานช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ที่ทำให้เกิดการตลาดแบบผสมผสานกันในหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) อีกทั้งเพิ่มความแข็งแกร่งทางการพาณิชย์ด้วยการลงทุนด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการพาณิชย์อย่างเข้มข้น

3. การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมกับธุรกิจเพื่อให้มีความกระชับมากขึ้น การปรับลดจำนวนพนักงานให้อยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้
4. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการและความปลอดภัย และการเป็นศูนย์กลางการเชี่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย
ทั้งนี้ การบินไทยได้จัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร หรือ Chief of Transformation Office แล้ว โดยเริ่มโครงการใหม่ๆ จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ โดยโครงการเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายการเงิน พร้อมระบุแผนการดำเนินงานโดยละเอียด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอน และกำหนดผู้รับผิดชอบโครงการไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ส่องแผนหารายได้ ตัดรายจ่าย ปรับองค์กรให้เล็กลงเสริมความคล่องตัว
ปัจจุบัน การบินไทย ได้เพิ่มรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน หรือ Flight Business และที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน หรือ Non-Flight รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายโครงการที่ริเริ่มดำเนินการไปแล้ว ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น
จากปาท่องโก๋สุดฮอตถึงครัวซองต์ฝีมือเชพ โทมัส เลอ กอฟ ที่หลายคนเคยชิมมาแล้วโดยวันแรกที่เปิดขายครัวซองต์ก็หมดเกลี้ยงไม่เหลือเลยทีเดียว บางคนก็สงสัยแค่ขายปาท่องโก๋กับขนมของหวาน จะทำให้การบินไทยฟื้นตัวได้จริงเหรอ

ก่อนหน้านี้ ชาญศิลป์ เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยรัฐว่า “มีคนถามผมบ่อยมากต้องขายปาท่องโก๋กี่แสนตัวถึงจะล้างหนี้ได้…ผมก็ตอบว่าที่ขาย เพราะเราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องพยายามสู้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน และในความเป็นจริงกำไรจากการขายปาท่องโก๋ 1 วัน ใน 7 โลเคชั่นที่เราวางจำหน่ายอยู่นั้น มีกำไรเท่ากับการทำการบิน 1 เที่ยวบินเชียวนะ”
เพราะแบบนี้นี่เอง ครัวการบินไทย หรือ THAI Catering ถึงได้จัดโปรโมชั่น และทำการตลาดผ่าน อร่อยล้นฟ้าไม่ต้องบินก็ฟินได้ รวมไปถึงการออกร้านค้าตามห้างสรรพสินค้า อีเวนต์ต่างๆ ซึ่งหากจำกันได้ผู้บริหารเคยบอกว่า จะนำครัวการบินไทยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะเป็นแผนกที่สร้างรายได้ให้กับการบินไทยเป็นกรอบเป็นกำ อย่าลืมว่า THAI Catering ไม่ได้ทำแค่การขายผ่าน On ground เท่านั้น แต่ยังมีการขายแบบ IN Fight อีกด้วย
นอกจากนี้ การบินไทย ยังได้หารายได้ส่วนอื่นๆ เช่นการขายแพ็กเก็จท่องเที่ยวผ่านทัวร์เอื้อหลวง ขายสินค้าต่างๆ ที่เราคุ้นหูกันก็คือ สวดมนต์ไหว้พระบินวนไม่ลงจอด หรือเปิดโกดังขายสินค้าต่างๆ เปิดอบรมการทำอาหาร และคอร์สอบรมมากมายสำหรับเด็กๆ รวมถึงผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบการบิน เป็นต้น
– การปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งการบินไทยวางเป้าหมายที่จะปรับลดจำนวนพนักงานลงจากปี 2562 โดยในปีดังกล่าว การบินไทยมีพนักงานประมาณ 29,000 คน ปัจจุบันการบินไทยได้ดำเนินการปรับลดขนาดองค์กรสำเร็จลุล่วงแล้ว ลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงานที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการ MSP A ทำให้วันนี้การบินไทยมีพนักงานอยู่ประมาณ 21,000 คน
โดยคาดว่าในปี 2564 จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ในโครงการ MSP B และ MSP C อีกประมาณ 6,000-7,000 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานคงเหลือประมาณ 14,000-15,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับแผนธุรกิจของการบินไทยในอนาคต

– แผนลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ของอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงยังได้มีการเจรจากับบริษัทที่ให้เช่าเครื่องบิน ให้ลดค่าเช่าและจ่ายเงินตามการใช้งานจริงของเครื่องบิน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงในระยะยาวกว่า 40%
โดย คณะผู้ทำแผนเชื่อว่า จากมาตรการลดต้นทุนต่างๆ มั่นใจว่า ภายในเดือน ก.ค.64 การบินไทยจะมีเงินเหลือจากการปรับลดค่าใช้จ่ายประมาณ 36,000 ล้านบาท และภายในปี 65 จะมีเงินเหลือ 58,000 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ประมาณการว่าการบินไทยจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 2566-2567
สำหรับแผนการบินหลังจากนี้ ในแผนฟื้นฟูฯ ระบุไว้ว่า การบินไทยจะเน้นการทำตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และความต้องการของผู้โดยสารเป็นหลัก เช่น ให้ผู้โดยสารสามารถเลือกความต้องการของที่นั่ง เลือกน้ำหนักการโหลดกระเป๋าได้
นอกจากนี้ จะมีโปรโมชั่นราคาค่าโดยสารที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนการทำตลาดการบิน จะเน้นโค้ดแชร์ร่วมกับสายการบินพันธมิตรมากขึ้น และในเดือน ก.ค. 64 นี้ การบินไทย จะกลับมาทำการบินในเชิงพาณิชย์ในเส้นทางบินต่างประเทศ ในเส้นทางยุโรป 5 จุดบิน ประกอบด้วย เส้นทางบิน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ลอนดอน ซูริก, ส่วนภูมิภาคเอเชีย จะทำการบิน ญี่ปุ่น ในเส้นทางบิน โอซากา ฮาเนดะ นาโกยา ,ส่วน เกาหลี ทำการบิน อินชอน, มะนิลา และจาการ์ตา เป็นต้น

โจทย์ใหญ่ที่การบินไทยต้องเร่งทำ สร้างความมั่นใจให้เจ้าหนี้ โหวตให้แผนไปต่อ
ปัญหาเรื่องการลดขนาดองค์กรก็เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะคนที่ยังไปต่อ เพราะตำแหน่งงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับจะปรับใหม่ให้เป็นไปตามโครงสร้างองค์กรและสิทธิประโยชน์ใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเงินเดือน ตำแหน่งจะเพิ่มหรือลด
แต่ผู้บริหารก็ยืนยันว่าอายุงานของพนักงานจะนับต่อเนื่อง รวมถึงกองทุนบำเหน็จ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็นับอายุงานต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยโครงสร้างใหม่นี้จะมีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นไป ส่วนคนที่ไม่ต่อกับโครงสร้างใหม่ก็ยังเป็นพนักงานตามโครงสร้างเดิมแต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินตามกฎหมายล้มละลาย และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้ คือ การโหวตของบรรดาเจ้าหนี้การบินไทย มีทั้งธนาคารที่มีมูลหนี้กว่า 29,000 ล้าน รวมไปถึงสหกรณ์ที่ซื้อหุ้นกู้ของการบินไทยประมาณ 71,000 ล้านบาท ว่าจะเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูครั้งนี้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป
to be continued….
ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun