“ฟู้ดแพนด้า” ตั้งเอ็มดีคนไทยคนแรกเสริมทัพอัพสปีดธุรกิจ พร้อมเร่งพัฒนาบริการใหม่ ๆ หวังตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุค “นิวนอร์มอล” ปักธง “ออนดีมานด์ดีลิเวอรี่” หวังสร้างกำไรระยะยาว ย้ำต้องเป็นมากกว่า “ฟู้ดดีลิเวอรี่”
นางสาวศิริภา จึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ และออนดีมานด์ ภายใต้ชื่อฟู้ดแพนด้า กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ทั่วโลกเติบโตขึ้น
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 เมษายน 2565
- ยุติบทบาท Thailand Pass ไปต่อไม่ได้ ยกเลิก 1 มิถุนายนนี้
- ก๊าซฮีเลียม-3 อายุ 14,000 ล้านปียุคกำเนิดจักรวาล กำลังรั่วไหลออกจากแก่นโลก
โดยมีมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังขยายตัวต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันมาทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ฟู้ดดีลิเวอรี่ในไทยโอกาสขยายตัวอีกมากขึ้น

“ฟู้ดดีลิเวอรี่ เป็นธุรกิจที่มี Touchpoint กับลูกค้าทุกวัน ตลาดในไทยก็เติบโตแค่ระดับหนึ่งจึงยังขยายตัวได้อีกมาก ที่ตัดสินใจมาร่วมงานกับฟู้ดแพนด้า เพราะมองว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคง่ายขึ้น
ทำให้ร้านอาหารมียอดขายเพิ่มขึ้น ไรเดอร์มีรายได้เพิ่มขึ้น หลังเข้ามาต้นเมษายน ก็เริ่มศึกษาทำความเข้าใจความต้องการลูกค้า เพราะมีความหลากหลายแตกต่างกันในระดับจังหวัด”
ซึ่งทิศทางธุรกิจจากนี้ คือการวางตนเองให้เป็นมากกว่า “ผู้ให้บริการส่งอาหาร” มีบริการที่ตอบทุกไลฟ์สไตล์ภายใต้ 3 ภารกิจเร่งด่วน คือ 1.การทำให้ฟู้ดแพนด้าครองใจลูกค้ามากขึ้น ต่อยอดจากจุดแข็งที่มี ทั้งในแง่พื้นที่การจัดส่งที่ครอบคลุม 77 จังหวัดมีร้านค้าพาร์ตเนอร์กว่า 145,000 ร้านทั่วประเทศ ไรเดอร์กว่า 100,000 ราย ทั้งเพิ่มจำนวนร้านค้าเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า และไรเดอร์ให้ได้มากขึ้น
2.พัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่ผ่านมาเปิดให้บริการแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เช่น บริการสั่งแล้วมารับอาหารที่หน้าร้าน หรือ Quick Commerce ที่เปิดให้บริการส่งสินค้าอุปโภคบริโภค “แพนด้ามาร์ท” (Pandamart) ปลายปี 2563
และ 3.ทำให้ลูกค้าคิดถึง “ฟู้ดแพนด้า” มากขึ้นมีแพนด้าโปร (Panda Pro) โปรแกรมสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่มีทั้งส่วนลด ส่งฟรี เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการต่อเนื่อง
นางสาวศิริภากล่าวว่า ที่ผ่านมา ฟู้ดแพนด้าลงทุนไปจำนวนมาก แม้การเติบโตจะสูงแต่ยังไม่อยู่ในจุดที่สร้างกำไรจึงเป็นความท้าทาย ทั้งจากนี้จะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” แม้รายได้หลักยังมาจากธุรกิจส่งอาหาร แต่ต้องเติมบริการใหม่เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกวันนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างผลกำไรระยะยาว
จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่ “ฟู้ดแพนด้า” มีรายได้รวมปี 2563 ที่ 4,375 ล้านบาท ขาดทุนสิทธิ 3,595 ล้านบาท และปี 2564 ตั้งบริษัท 7 แห่ง
คือ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ คิทเช่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โฮลดิ้ง 1 (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โฮลดิ้ง 2 (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โฮลดิ้ง 3 (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ โปรโมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ คลาวด์ คิทเช่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat