เปิดรายได้ย้อนหลัง 3 ปี ดารุมะ ซูชิ ก่อนปิดร้านไม่มีกำหนด – BBC News ไทย

298
SHARES
2.1k
VIEWS

instagram/darumasushiofficial

ที่มาของภาพ, instagram/darumasushiofficial

คำบรรยายภาพ,

ผู้เสียหาย นอกจากเป็นลูกค้ารายย่อยที่ซื้อเวาเชอร์ตรงจากทางร้าน ยังมีกลุ่มแม่ค้า ที่กดซื้อเวาเชอร์เพื่อนำไปขายแก่ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง

ร้านบุฟเฟต์แซลมอนที่ชื่อว่า ดารุมะ ซูชิ ปิดให้บริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า หลังจากมีการขายคูปองหรือเวาเชอร์ในราคา 199 บาท และมีผู้บริโภคซื้อไปเป็นจำนวนมาก ทำให้กระทั่งเจ้าของแฟรนไชส์ที่ซื้อร้านมาถูกลอยแพไม่ต่างจากลูกค้าที่ซื้อคูปอง โดยคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายรวมราว 20 ล้านบาท

กรณีดังกล่าวลูกค้าที่ซื้อคูปองเริ่มโพสต์ถึงความไม่ปกตินี้ตั้งแต่วันศุกร์ (17 มิ.ย.) ที่ผ่านมา เมื่อติดตามข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจของร้าน พบว่าไม่สามารถเข้าถึงได้

ดารุมะ ซูชิ มีสาขา 24 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มีทั้งการลงทุนเองและระบบแฟรนไชส์ ที่ผ่านมาร้านมีจุดขาย คือการจำหน่ายเวาเชอร์รับประทานอาหารบุฟเฟต์ผ่านแอปพลิเคชั่น ล่าสุดได้จัดโปรโมชั่นในราคา 199 บาท โดยมีเงื่อนไขต้องซื้อ 5 ใบขึ้นไป และบัตรแต่ละใบมีอายุถึง 6 เดือน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ ระบุว่าจะพาตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อคูปองโปรโมชั่นของร้านดารุมะ ซูชิ เข้าร้องเรียนต่อตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในวันที่ 20 มิ.ย.

ธุรกิจบุฟเฟต์แซลมอนที่มีร้าน 24 สาขา มีเจ้าของเป็นใคร และมีรายได้ย้อนหลังขาดทุนหรือกำไร ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2559 ดำเนินธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร ร้านอาหาร มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 87 โครงการ เดอะ แจส รามอินทรา ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ

ข้อมูลงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562,2563 และ 2564 ทางบริษัทมีกำไร ตั้งแต่ 1-1.7 ล้านบาท จากรายได้รวมปีละ 39-45 ล้านบาท

  • ปี 2562 รายได้ 39,004,873 บาท รายจ่ายรวม 37,527,541 บาท กำไร 1,004,376 บาท
  • ปี 2563 รายได้ 43,762,122 บาท รายจ่ายรวม 41,214,509 บาท กำไร 1,778,984 บาท
  • ปี 2564 รายได้ 45,621,832 บาท รายจ่ายรวม 42,237,324 บาท กำไร 1,256,609 บาท

นายเมธา ยังมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท ดารุมะ ซูชิ โก จำกัด ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลงบการเงิน

พบบริษัทดารุมะ จัดการบัญชีแต่เพียงผู้เดียว

กฤชฐารวี พิจิตรพงศ์ชัย หนึ่งในเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งซื้อกิจการมาทั้งหมด 6 สาขา ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก Krittharawee Arys Pichitpongchai ว่า เธอและเจ้าของแฟรนไชส์รายอื่นอีกกว่า 10 สาขา ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกัน รวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดารุมะและผู้บริหาร

ส่วนระบบการประกอบการแฟรนไชส์ กฤชฐารวี ระบุว่า เจ้าของแฟรนไชส์ผู้เสียหายได้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์เพื่อเปิดสาขา โดยมีบริษัทดารุมะ เป็นผู้บริหารจัดการและเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดเเต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้กับผู้ลงทุน การจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัทดารุมะ ซึ่งทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ

“ณ เวลานี้ทางกลุ่มผู้ลงทุนพยายามติดต่อผู้บริหารบริษัทดารุมะ เพื่อรอฟังคำชี้แจง” กฤชฐารวี ระบุ

สำหรับราคาลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของร้านดารุมะ ซูชิ อยู่ที่ 2,500,000 บาท มีอายุสัญญา 5 ปี

ผู้บริโภคควรทำอย่างไร

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แนะนำว่าให้ผู้ซื้อเก็บหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคูปองล่วงหน้า หลักฐานการคุยในแอปฯ หรือแชท หากชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ขอให้ผู้บริโภคติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรขอเงินคืนโดยด่วน

ด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุกับไทยพีบีเอสว่า หากไม่สามารถติดต่อหรือหาแนวทางการรับผิดชอบจากร้านค้าได้ ผู้บริโภคสามารถที่จะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อดำเนินคดีทางอาญา ในเหตุหลอกให้เสียทรัพย์ต่อไป

ย้อนคดีโปรโมชั่นบุฟเฟต์แหลมเกต ถูกจำคุกรวม 1,446 ปี

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2561-2562 ร้านอาหารทะเลแหลมเกต ได้มีการจัดโปรโมชั่นโดยการจัดทำเวาเชอร์และอี-คูปอง หลากหลายรูปแบบออกมาจำหน่ายกว่า 57 โปรโมชั่น โดยคิดค่าอาหารแตกต่างกัน แต่ละโปรโมชั่นมีราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เช่น โปรราชาทะเลบุฟเฟ่ต์ ขายเป็นชุดละ 880 บาท มี 10 ใบ หรือที่นั่งละ 88 บาท ลูกค้าต้องจองคิววันเข้าไปรับประทานอาหารผ่านทางระบบออนไลน์ของร้านถึงจะเข้าไปรับประทานอาหารได้

ในช่วงแรกลูกค้าที่ได้เข้าไปรับประทานอาหารแล้วใช้บริการได้จริง เมื่อประชาชนทั่วไปพบเห็นโฆษณาและรีวิวจากผู้ที่เคยเข้ามาใช้บริการแล้วจึงหลงเชื่อและซื้อบัตรรับประทานอาหาร ต่อมาประสบกับปัญหาในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสำรองที่นั่งที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ไม่สามารถสำรองที่นั่งได้ จนทางร้านขอยกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น โดยอ้างว่า วัตถุดิบจากแหล่งผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะใช้วัตถุดิบสูงเกินกว่าที่คาดการณ์

กรณีนี้มีการดำเนินคดีจากผู้เสียหาย เมื่อปี 2563 ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 1,446 ปี บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด พร้อมกับจำเลยอีก 2 คน และปรับ 3,615,000 บาท ในความผิดร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา เเละพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

โปรโมชั่น ประหยัด ลด แลก แจก แถม ฟรี ดีล คูปอง

โปรโมชั่น ประหยัด ลด แลก แจก แถม ฟรี ดีล คูปอง

แหล่งรวบรวม โปรโมชั่น ส่วนลด ของแถม โปรใหม่ ล่าสุด แลก แจก จัดเต็ม โปรโมชั่นทั่วไทย ทั้งการท่องเที่ยว พักผ่อน ตั๋วเครื่องบิน เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า พิซซ่า ไก่ทอด ไอที มือถือ ร้านอาหาร บัตรเครดิต ช๊อปปิ้งโลตัส แมคโคร เซเว่น 7-eleven เทศกาลต่าง ๆ รวมทั้ง คูปอง และ ดีล ต่าง ๆ หลากหลาย

โปรโมชั่นอื่น ๆ

  • Trending
  • Comments
  • Latest








Welcome Back!

Login to your account below

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.