“แต่ใช้คำว่า ‘เหงา’ ก็อาจน้อยไป เรียกได้ว่า ‘หดหู่’ เลยแหละ เพราะชีวิตเราเคยแวดล้อมไปด้วยคนที่รักในสิ่งเดียวกัน แต่มาวันนี้ เรากลับไม่ได้เจอหน้าพวกเขาแล้ว” ครูเพลง – มีรี บังเกิดสุข จาก My Street Studio เล่าให้เราฟัง
ขณะที่ ครูเท็กซัส – วชิระ มะโนวงค์ แห่ง BDC (BURIRAM Dance Complex) ก็เสริมว่า เนื่องจากการเต้นคือสิ่งที่เชื่อมโยง ‘ครูสอนเต้น’ อย่างเขากับคนอื่นๆ เข้าด้วยกัน ผ่านการได้มาพบปะเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่รัก จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เขาจะรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปในวันที่โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลให้นักเรียนและแดนเซอร์ไม่สามารถมาใช้บริการแบบเจอตัวกันได้
ดังนั้น นอกจากการรับมือกับความรู้สึกเหงาแล้ว ครูสอนเต้นผู้มีกิจการเป็นของตัวเองเหล่านี้ จึงยังคงต้องหาวิธีเอาตัวรอดในเชิงธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

จาก TikTok ถึงสตูดิโอสอนเต้น …คนไทยก็ชอบ ‘เต้น’ ไม่แพ้คนชาติไหน
ท่ามกลางกระแสการเต้นที่พบเห็นได้ทั่วไป เราอาจพบว่าการมาถึงของแอปพลิเคชัน TikTok ยิ่งช่วยทำให้การเต้นกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนได้อย่างง่ายดายขึ้น
หากลองมองย้อนกลับไปในโลกของ ‘การเต้นแบบร่วมสมัย’ ในบ้านเรา ผู้คนมักจดจำท่าเต้นมาจากศิลปินนักร้องวัยรุ่นเป็นหลัก โดยเฉพาะท่าเต้นง่ายๆ อันเป็นเอกลักษณ์จากบรรดาเพลงฮิตต่างๆ ที่กว่าจะได้ชมก็ต้องรอคอยมิวสิกวิดีโอจากรายการเพลงตามช่องโทรทัศน์อยู่เป็นวันๆ แต่ในปัจจุบันอันเป็นยุคสมัยที่วงการเพลงไทยนิยมสร้างสรรค์บอยแบนด์-เกิร์ลกรุ๊ปในฐานะวงไอดอลขึ้นมา (ซึ่งมีลักษณะเดียวกับไอดอลของวงการเพลงเกาหลีใต้ที่ ‘ยืนหนึ่ง’ ในอุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียมาตลอดสองทศวรรษ) การเต้นแบบร่วมสมัยจึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครๆ ก็สามารถเปิดยูทูบเต้นตามได้ไม่ยาก ตั้งแต่ท่าแรกจนถึงท่าสุดท้าย หรือจะจริงจังจนถึงขั้นไปเข้าคลาสเรียนเต้นเลยก็ยังได้
การเติบโตอย่างรวดเร็วของสตูดิโอสอนเต้นในประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนให้เราเห็นว่า การเรียนรู้ทักษะการเต้นไม่ใช่เรื่องยากลำบากอีกต่อไป และสังคมไทยก็มี ‘บุคลากรทางการเต้น’ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้ยังเคยไปสร้างชื่อเสียงในระดับโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทีมนักเต้นฮิปฮอปที่เคยคว้าแชมป์โลกบนเวที World Hip Hop Dance Championship หรือแม้กระทั่งศิลปินไทยระดับสากลที่ทุกคนรู้จักอย่าง ลิซ่า Blackpink และ แบมแบม GOT7 ซึ่งก็ต้องผ่านการเรียนเต้นอย่างหนักก่อนจะได้ออดิชั่นเป็นเด็กฝึก (Trainee) ในสังกัดค่ายเพลงเกาหลีใต้ และได้เดบิวต์จนโด่งดังเป็นพลุแตกดังเช่นทุกวันนี้

ครูทอมมี่ – นที มาลัยทอง จาก D Maniac Studio ผู้เทรนศิลปินมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เติร์ด หรือ ปอร์เช่ (วง TRINITY), เฟียต พัทธดนย์ (ค่าย GMMTV), แพทริค (วง INTO1) รวมถึงวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง Red Spin มองว่า ความสามารถของศิลปินไทยยุคใหม่นั้นมีพัฒนาการแบบ ‘ก้าวกระโดด’ เมื่อเทียบกับช่วง 10 กว่าปีก่อน ประกอบกับวงการไอดอลที่กำลังเฟื่องฟู ก็ทำให้ค่ายเพลงพยายามพัฒนาบุคลากรของตัวเอง เพื่อมัดใจทั้งผู้ชมและผู้ฟัง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนต้องผ่านการฝึกซ้อมจากสตูดิโอสอนเต้นด้วยกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม สตูดิโอสอนเต้นไม่ได้มีหน้าที่แค่ฝึกสอนศิลปิน แต่ยังรวมถึงคนที่มีอาชีพแดนเซอร์และคนทั่วไปที่หลงใหลในการเต้นด้วย ซึ่งพวกเขาไม่ได้มองว่าการเต้นเป็นเพียงการขยับร่างกายไปตามจังหวะเพลงเท่านั้น แต่ยังสามารถผสานลีลาในแบบของตัวเองลงไป หลังทำความเข้าใจในทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การใช้ร่างกายอย่างถูกต้องเพื่อสร้างชุดท่าเต้น (Choreography) ที่น่าตื่นตาออกมาได้

วิกฤติโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า กับมหากาพย์การปรับตัวของสตูดิโอสอนเต้น
ครูเพลง เจ้าของ My Street Studio เป็นอีกหนึ่งคนที่ทำงานกับศิลปินมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะการฝึกสอนนักแสดงซีรีส์วายชื่อดังอย่าง มิว ศุภศิษฏ์ และ กลัฟ คณาวุฒิ (TharnType The Series) ซึ่งเธอตั้งใจเปิดสตูดิโอนี้ขึ้นมาเพราะอยากให้การเต้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คน เป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายและทำมันต่อไปด้วยความรัก แต่หลังจากเปิดสตูดิโอได้ไม่นาน เธอก็ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้โรงเรียนของเธอต้องหยุดชะงัก และถึงขั้นต้องปิดตัวลงชั่วคราวในทุกครั้งที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสตูดิโอสอนเต้นทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่สตูดิโอในจังหวัดบุรีรัมย์อย่าง BDC (BURIRAM Dance Complex)
ครูเท็กซัส เจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ -ผู้เป็นอีกหนึ่งนักพัฒนาศิลปิน ที่มีผลงานเด่นคือการออกแบบท่าเต้นให้กับ กระแต อาร์สยาม รวมถึงการฝึกเต้นฉบับรวดรัดให้กับสองหนุ่ม นาย และ แพทริค ก่อนจะเดินทางไปแข่งขันในรายการคัดเลือกไอดอลอย่าง CHUANG 2021- เผยว่า เขาเองก็ต้องคิดหาวิธีรับมือสถานการณ์วิกฤตินี้เพื่อให้สตูดิโอยังดำเนินกิจการต่อไปได้ เนื่องจากกลุ่มนักเรียนหลักของสตูดิโอเขามีทั้งเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 7-10 ปี และกลุ่มแพทย์ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งล้วนแต่มีวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อร้ายไปแบบเต็มๆ จนทำให้ไม่สามารถเดินทางมายังสตูดิโอได้

ขณะที่ ครูตูมตาม – วีรศักดิ์ สระทองอินทร์ ที่สอนการเต้นออกกำลังกายอย่าง ซูมบ้า (Zumba) ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะแม้เขาจะเคยมีคลาสสอนนักเรียนอยู่มากมายหลายแห่ง ทั้งในฟิตเนสและสตูดิโอสอนเต้นออกกำลังกาย แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้ ‘สถานที่’ ในการเรียนการสอนต้องปิดทำการ เขาจึงหาทางออกด้วยการเปิดคลาสออนไลน์ขึ้นมา ซึ่งตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็ทำให้เขาพบความจริงข้อหนึ่งว่า ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการเรียนแบบนี้ได้
เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่นักเรียนหลายคนของเขา-ที่อายุมากแล้ว-มักไม่ถนัดการใช้โปรแกรมออนไลน์อย่าง Zoom อีกทั้งยังมีปัญหาน้อยใหญ่ที่มาจากเรื่องของจอโทรศัพท์มือถือที่เล็กเกินกว่าจะมองเห็น, สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร รวมถึงลิขสิทธิ์เพลงที่หากเขาเลือกสอนผ่านทาง Facebook ก็อาจเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘คลาสล่ม’ เพราะเพลงบางเพลงอาจถูกตรวจจับลิขสิทธิ์จนทำให้นักเรียนไม่สามารถได้ยินเสียงเพลงที่เปิดอยู่ได้

แม้จะมีปัญหามามากมาย แต่ครูตูมตามก็ยังคงพยายามสานต่อคลาสออนไลน์ต่อไป เพราะเขาอยากให้มันเป็น ‘สถานที่รวมตัว’ สำหรับเหล่านักเรียนที่เคยร่วมแบ่งปันความรู้-ความสุขกันในคลาสปกติ เพื่อให้พวกเขามีโอกาสได้กลับมาเต้นด้วยกันอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนต้องกักตัวเองอยู่ภายในบ้าน ซึ่งบางครั้งก็พัฒนาไปสู่การนั่งกินข้าวด้วยกันผ่านโปรแกรม Zoom หลังเลิกคลาสเลยก็มี
แต่ถึงอย่างนั้น การทำคลาสเต้นออนไลน์ในระยะหลังๆ มานี้ โดยเฉพาะช่วงที่โควิดระลอก 3 แพร่ระบาด จำนวนผู้เรียนก็กลับลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะหลายคนไม่ได้อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่อยากจะออกกำลังกาย และเอาแต่ห่วงพะวงกับสถานการณ์ปัจจุบันจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร

ไม่เพียงปัญหาด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและความรู้สึกอันห่อเหี่ยวของผู้คนเท่านั้น แต่ธรรมชาติของการสอนเต้นที่เหมาะกับการพบเจอกันแบบ ‘ตัวต่อตัว’ มากกว่า ก็ทำให้การดำเนินธุรกิจดังกล่าวในภาวะเช่นนี้ยิ่งเป็นไปได้ยาก
ยกตัวอย่างเช่น My Street Studio ของครูเพลงที่มีจำนวน ‘นักเรียนใหม่’ ค่อนข้างมาก การเรียนรู้ท่าเต้นอันซับซ้อนที่ต้องอาศัยทักษะการควบคุมร่างกายหลายส่วน จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการสอนแบบทางไกลผ่านโลกออนไลน์ หรือ BDC ของครูเท็กซัสที่มีนักเรียนเป็น ‘เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ’ ซึ่งเหมาะกับการเรียนการสอนในสตูดิโอจริงๆ มากกว่า เพราะการเรียนออนไลน์จะทำให้เด็กๆ ในช่วงวัยนี้เสียสมาธิได้ง่าย จนไม่สามารถฝึกฝนทักษะการเต้นได้อย่างเต็มที่ (แม้คลาสออนไลน์ของ BDC จะมีข้อดีตรงที่ช่วยให้เด็กๆ ตามต่างจังหวัดเข้าถึงคลาสได้ง่ายขึ้นก็ตาม)
นอกจากนี้ การทำสตูดิโอสอนเต้นไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว เพราะจำนวนผู้เรียนในแต่ละวันนั้นมักไม่แน่นอน ซึ่งก็ส่งผลให้รายรับที่เข้ามาต้องแปรผันตามไปด้วย จนทำให้พวกเขาอาจมีรายรับที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายประจำของสตูดิโอ (อาทิ ค่าไฟ, ค่าเช่าสถานที่) ในแต่ละเดือน ยิ่งเมื่อประกอบกับภาวะโรคระบาดที่ทำให้คนไม่กล้าออกไปพบเจอคนหมู่มาก และทำให้เงินในกระเป๋าร่อยหรอลงทุกวัน ก็ทำให้จำนวนของนักเรียนยิ่งลดลง แม้ครูสอนเต้นหลายคนจะเปิดคลาสแบบออนไลน์ และครูบางคนอย่างครูเพลงจะพยายามทำโปรโมชั่นโดยการให้ส่วนลดคลาสเรียน หรือทำแพ็กเกจคลาสแบบ ‘ยิ่งซื้อคลาสมาก ยิ่งได้ราคาถูก’ เพื่อจูงใจให้คนกลับมาเรียนที่สตูดิโออีกครั้งก็ตาม

อย่างไรก็ดี ครูทอมมี่แห่ง D Maniac Studio ก็ยังคงมีมุมมองต่อคลาสออนไลน์ในแง่บวกว่า มันถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการเรียนรู้ที่ท้าทายทั้งผู้สอนและผู้เรียนอย่างมาก เพราะเขาต้องหาวิธีฝึกให้นักเรียนสามารถควบคุมสมาธิของตัวเอง เพื่อพร้อมทำความเข้าใจกับท่าเต้นขณะเรียน, มีเวลาตกผลึกกับสิ่งที่เรียนไป และอดทนกับการ ‘เต้นซ้ำๆ’ ให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดระหว่างอัดวิดีโอส่งการบ้าน ซึ่งด้วยวิธีการสอนของครูทอมมี่ที่พยายามช่วยให้ผู้เรียนไม่เครียด พร้อมคอยให้กำลังอยู่เสมอ (“ถ้าเราเชื่อว่าเราทำมันได้ เราก็จะทำมันได้” / “จงอย่ายอมแพ้”) ก็ทำให้ทั้งเขาและนักเรียนมีความสุขในทุกครั้งที่มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์
นอกจากนี้ ครูทอมมี่ยังสร้างสรรค์คลาสเรียนออนไลน์ของตนให้แตกต่างจากสตูดิโอสอนเต้นแห่งอื่นๆ ด้วยการออกแบบ ‘ชุดบทเรียนเต้น’ ตามแนวคิดของเขาเอง อาทิ Basic! My Homies ซีรีส์ของคลาสออนไลน์ที่จะพาผู้เรียนเต้นขั้นเริ่มต้นไปรู้จักกับพื้นฐานการเต้นในสไตล์ฮิปฮอปและเฮาส์ ก่อนค่อยๆ เจาะลึกลงไปอีก หรือ What’s Up My Homies ที่สอนการเต้นแบบเป็นชุด Choreography ซึ่งเหมาะกับผู้เรียนที่มีพื้นฐานการเต้นมาแล้วพอสมควร เป็นต้น

แต่ถึงที่สุดแล้ว ครูสอนเต้นทั้ง 4 ก็ยังมองผลกระทบที่สตูดิโอของพวกเขาได้รับจากการระบาดของโควิด-19 ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในระลอกที่ 3 นี้ถือว่า ‘หนักที่สุด’ เพราะรายรับของพวกเขายังคงสวนทางกับรายจ่ายมาตลอดหนึ่งปีเต็ม และความลักลั่นใน ‘การแบ่งหมวดหมู่กิจการที่ต้องปิดชั่วคราว’ ตามคำสั่งจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของภาครัฐ (ปัจจุบัน สตูดิโอสอนเต้นไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ฟิตเนส โรงยิม หรือแม้กระทั่งโรงเรียนสอนลีลาศ เนื่องจากไม่ได้มีการจับคู่เต้น) ก็ยิ่งทำให้เหล่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่อย่างพวกเขาไม่สามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้
ฉะนั้น การเรียนเต้นออนไลน์-ที่เป็นเพียงหนทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของบรรดาครูสอนเต้น-จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่สามารถตอบโจทย์ของใครได้เลย หากสถานการณ์โควิดยังคงดำเนินไปเช่นนี้โดยไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาที่ถูกต้องเหมาะสมจากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง
“เราอยากได้การตัดสินใจที่ชัดเจนและการแก้ไขที่ตรงจุดจากภาครัฐ เราจะได้วางแผนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในการมาเรียนเต้นต่อไปได้” ครูเท็กซัส กล่าว ขณะที่ครูตูมตามก็ช่วยขยายความต่อว่า “ครูสอนเต้นต้องเจอนักเรียนต่อวันมากมาย ซึ่งหากประชาชนอย่างพวกเราได้รับวัคซีนไวขึ้น อย่างน้อยเราก็จะรู้สึกปลอดภัยและสบายใจที่จะมาเรียนมาสอน แต่ตราบใดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเยอะอยู่ โอกาสในการกลับมาสอนและมีนักเรียนในคลาสแบบเดิมคงยาก เพราะคงไม่มีครูคนไหนอยากสร้างคลัสเตอร์ในการแพร่เชื้อหรอกครับ”
ส่วนครูเพลงนั้นมองไกลถึงมาตรการเยียวยาที่ผู้ประกอบการอย่างพวกเธอควรจะได้รับ “อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลเรื่องการลดหย่อนหรืองดเว้นค่าเช่าพื้นที่ด้วยค่ะ ไม่ใช่แค่สตูดิโอสอนเต้น แต่ผู้ประกอบการทุกคนควรได้รับการช่วยเหลือตรงนี้ด้วย เพราะในซอยที่สตูดิโอของเพลงตั้งอยู่ ตอนนี้กิจการอื่นๆ เขาสู้กันไม่ไหวแล้ว ปิดตัวกันไปเยอะ มันเหมือนเรากำลังเฝ้ามองเพื่อนบ้านเราจากไปทีละคน ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าใจหายนะคะ” ซึ่งก็ดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่ครูทอมมี่พูดไว้
“ผู้ประกอบการอย่างพวกเราสามารถสร้างอาชีพ สร้างผลงาน และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศได้นะครับ แต่ตอนนี้รายได้ของพวกเราหายไปและต้องรับผิดชอบตัวเอง แล้วพวกเราก็ไม่ได้ถูกมองเห็นเท่าที่ควร เลยแค่อยากให้ภาครัฐหันมามองผู้ประกอบการตัวเล็กๆ อย่างเราบ้างน่ะครับ”
เราไม่แน่ใจนักว่า ครูสอนเต้นเหล่านี้ -ที่ล้วนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินไทยทั้งในบ้านเราและต่างแดน หรือแม้กระทั่งเป็นผู้มอบความสุขให้กับคนจำนวนมหาศาลที่รักการเต้น- จะยังต้องหาทางดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจสตูดิโอสอนเต้นของตัวเองรอดพ้นจากวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ไปอีกนานแค่ไหน